วันที่ 7 พ.ค. นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ 17.00 น. วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม) มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.40-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา (และช่วงวันหยุดพิเศษของตลาดการเงินไทย) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 36.50-36.86 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและกลับมาคาดการณ์ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐ ที่ออกมาแย่กว่าคาด

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและทยอยอ่อนค่าลงจากโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดช่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐ ส่วนเงินดอลลาร์ก็ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างไรก็ดี โดยรวมเงินบาทยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ การประชุมเฟดล่าสุด ทางเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาในเชิง hawkish ไปมาก อย่างที่ตลาดกังวล ส่วนสำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และควรจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐ – แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาจมีเพียง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งโทนการสื่อสารโดยรวม อาจยังคงสงวนท่าทีต่อการสนับสนุนการลดดอกเบี้ย แต่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังไม่ได้สนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2024 รวมถึง รายงานผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey) ที่จะช่วยสะท้อนถึงภาวะสินเชื่อและช่วยในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ได้

▪ ฝั่งยุโรป – ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเราคาดว่า BOE จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ทว่า ควรจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากผู้เล่นในตลาดล่าสุด ประเมินว่า BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งหาก BOE ส่งสัญญาณชัดเจนว่า มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน ก็อาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงาน GDP อังกฤษ ในไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมกับรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของทั้งสองธนาคารกลาง

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) โดยตลาดมองว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน 4.35% และ 3.00% ตามลำดับ ซึ่งบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ ก็อาจรอเฟดเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้จริง หรือมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อลดความเสี่ยงและแรงกดดันต่อสกุลเงินของประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) เดือนเมษายน ของจีน ซึ่งหากออกมาสดใส ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์จีนมากขึ้น ซึ่งพอจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินหยวนจีน (CNY) ได้บ้าง

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.3 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และระวังความผันผวนในตลาดการเงินไทย หากผู้เล่นในตลาดต่างกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้แผ่วลง ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ทว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ ทั้งโฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าทยอยซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ลดแรงกดดันต่อเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินปอนด์อังกฤษและเงินหยวนจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้ในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways แต่เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด อาทิ ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือในกรณีที่ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็อาจย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย (ระวังการออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย)