เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เวลา 08.30 น.ที่หอประชุมคุรุสภา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ  กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออมว่า การจัดอบรมครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ครูทุกคนมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น แม้ตัวเลขการเป็นหนี้สินจะอยู่ในกลุ่มครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตครูทุกคนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันครูรุ่นใหม่ก็จะต้องรู้จักวิธีการบริหารจัดการเงินที่ดีด้วย ซึ่งการจัดโค้ชหนุ่มที่ถือว่าเคยประสบปัญหาวิกฤติหนี้มาแล้วจะทำให้เป็นต้นแบบให้แก่ครูในด้านการเงินมากขึ้น และรู้วิธีการบริหารจัดการตัวเองได้ เพราะการเป็นหนี้ก็เหมือนการอาการป่วยชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางร่างกายแต่เป็นการเจ็บป่วยทางการเงิน ดังนั้นถ้ารู้ว่าตัวเองป่วยด้วยเรื่องนี้แล้วต้องเรียนรู้วิธีการจัดการป้องกัน เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่เส้นทางการป่วยอีก ตนจึงอยากให้ครูสร้างวินัยทางการเงินให้ดี ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการอบรมจากโค้ชทางการเงินที่เป็นมืออาชีพครั้งนี้จะเป็นโมเดลในการแก้หนี้ครูให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า  สำหรับการจัดอบรมดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มครูแกนนำในสถานีแก้หนี้ครูของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และกลุ่มครูที่เป็นหนี้ โดยในส่วนของครูแกนนำจะอบรมเติมทักษะทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ครูที่เป็นหนี้ เหมือนเป็นทีมกลางของแต่ละเขตพื้นที่  เพื่อนำไปขยายผลในเขตพื้นที่และสถานศึกษาของตัวเอง และปูพรมการเรียนรู้วิธีบริหารจัดการสร้างวินัยทางการเงิน ขณะที่กลุ่มครูที่เป็นหนี้จะเรียนรู้การจัดการหนี้ให้มีเงินออมและเสริมสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองได้ นอกจากเราจะมีการอบรมทักษะทางการเงินให้แก่ครูแล้ว ยังมีการจัดการอบรมวิธีบริหารจัดการเงินให้แก่นักเรียนด้วย เนื่องจากผลสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนพบว่า อยากเรียนรู้เรื่องดังกล่าวในกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษา

“จากการสำรวจข้อมูลหนี้ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนี้จำนวนมากและสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละเดือนไม่พอใช้ เนื่องจากถูกหักเงินเดินเกือบหมดบัญชี เพื่อนำไปใช้หนี้ และหนี้ครูส่วนใหญ่จะอยู่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดังนั้นเราจึงวางแนวทางที่จะช่วยเหลือด้วยการจัดทำแผนการลดดอกเบี้ยของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อให้ครูมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่า ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและผอ.สพท. ซึ่งอาจทำให้เราช่วยการแก้หนี้มีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั้นพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีอัตราดอกเบี้ย 3.5% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยจำนวนน้อยที่สุด  ส่วนสหกรณ์อมทรัพย์ครูแห่งอื่นๆ เท่าที่ทราบมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 9.1% ซึ่งจากการจัดทำแผนลดอัตราดอกเบี้ยทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางแห่งช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว เช่นที่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.สระบุรี อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 4.5% ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.กาญจนบุรี ลดลงเหลือ 4.1 %” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว