ทีมข่าวเฉพาะกิจเกาะติดปัญหา 8 โปรเจกต์ยักษ์ งบ 558.2 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง โครงการพัฒนาเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก่อสร้างที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยฝีมือ 2 หจก.ขาใหญ่แห่งเมืองกาฬสินธุ์ แต่สร้างไม่เสร็จ สร้างความเดือดร้อนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐกิจชุมชนเมืองเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท จนถูกชาวกาฬสินธุ์เรียกว่า “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ทำลายความน่าเชื่อถือของกรมโยธาธิการและผังเมือง จนถูกมองว่าปัญหานี้อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายและโอกาสตามระเบียบราชการ ในการหลบหลีกงานก่อสร้าง จนนำไปสู่ข่าวจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมโยธาฯ แจ้งว่า มีคำสั่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกเป็นคำสั่งทางปกครองให้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ เป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน จะมีผลไม่สามารถเข้าประมูลงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึง กรม กระทรวงอื่นๆ แต่ชาวบ้านไม่เชื่อจึงต้องการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ประกาศเป็นรายลักษณ์อักษรออกมา อีกทั้งผลการทิ้งงานทำให้งานค้างเก่า 8 แห่ง เริ่มสำแดงปัญหาการพังทลายงานที่ก่อสร้างไม่เสร็จ โครงการเหล่านี้ครอบคลุม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ มี 5 โครงการ อ.กมลาไสย 2 โครงการ และ อ.ฆ้องชัย 1 โครงการ ทั้งหมดเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับชาวกาฬสินธุ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ ได้รับการเปิดเผยจาก นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ ว่า ตลอดทั้งวันของวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายยงค์ยุทธ บวรธนเรืองกุล ผอ.กลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท.เขต 4 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ 6 จุด งบประมาณ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 3 ครั้ง จำนวน 80,166,000 บาท คงเหลือ 68,034,000 บาท (2) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ความยาว 583 เมตร งบประมาณ 39,540,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 2 ครั้ง จำนวน 11,099,000 บาท คงเหลือ 28,441,000 บาท (3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ ความยาว 937 เมตร งบประมาณ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 1 ครั้ง จำนวน 10,336,500 บาท คงเหลือ 48,983,500 บาท ทั้งหมดก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ผู้รับเหมาทิ้งงาน

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตลอดทั้งวัน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 จ.ขอนแก่น ได้ทำการเก็บหลักฐานพร้อมกับสอบถามกับชาวบ้านถึงผลกระทบโดยภาพรวม ทั้งนี้ตนได้ส่งหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่ได้รับจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ อธิบดีกรมโยธาฯ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาที่เอกสารดังกล่าวจะมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายตามงวดงานที่จะทำการพิจารณาในเรื่องการคุ้มทุนการทำงานว่าเบิกได้ตามจริงหรือไม่ ถึงแม้ว่ากรมโยธาฯ ออกข่าวว่ามีการยกเลิกโครงการไปแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ได้รับรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรการตรวจสอบ จึงต้องทำกันเป็นคู่ขนานที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ส่งให้ ป.ป.ช. รวมถึง สตง. ได้เข้ามาตรวจสอบอีกทาง

“ข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงในโครงการนี้ ป.ป.ท. พบปัญหาความเสื่อมสภาพขอวัสดุที่ทำการก่อสร้างเอาไว้ เนื่องจากทุกจุดการก่อสร้างเหล็กหรือบล็อกท่อน้ำเริ่มเป็นสนิมมีการเคลื่อนจากการพังทลายของหน้าดินเนื่องจากฝนเริ่มตกลงมาในพื้นที่ อีกทั้งการก่อสร้างทิ้งงาน ทำให้บล็อกที่สร้างขึ้นมากลายเป็นที่กักน้ำเพราะไม่มีการต่อท่อระบายน้ำโดยเฉพาะโครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ 6 จุด ทำบล็อกเพียง 2 จุด อีก 4 จุดไม่ได้ลงมือก่อสร้าง อีกทั้งอาคารชลศาสตร์ 2 แห่ง ก็ยังไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนของโครงการ ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกรวบรวมเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของ ป.ป.ท. ก็จะส่งต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ต่อไป”

นายชาญยุทธ กล่าวว่า การตรวจสอบจะทำอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องภาษีประชาชน การก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ ควรที่จะได้รับการแก้ไข ดังนั้นความชัดเจนของทางราชการน่าจะเร่งเข้าตรวจสอบ เพราะทุกวันนี้ไม่มีข่าวจากทางกรมโยธาธิการฯ ออกมาเลยว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะปัญหาทั้งหมดไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง แต่ขึ้นอยู่กับผลการก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จทั้ง 8 โครงการ ในส่วนพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ หากต้องการที่จะแจ้งข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นก็สามารถแจ้งได้มาที่ตน ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชน ได้เตรียมที่จะส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้คณะ กมธ.ป.ป.ช.-ปปง. และ คณะ กมธ.การเงินการคลัง สภาผู้แทนราษฎรได้นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ให้ร่วมติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหาต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ แจ้งว่า เมื่อวานนี้ (9 พ.ค. 67) เว็บไซต์สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาผู้มีอิทธิพลว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยืนยันจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่มีผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียในพื้นที่อย่างแน่นอน ส่วนการตั้งด่านตรวจของ จนท.ตำรวจ เป็นการปฏิบัติงานตามปกติเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและคุมเข้มปัญหายาเสพติด เนื้อหา มีนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2567 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการหยิบยกข้อคำจำกัดความของกระทรวงมหาดไทยของผู้มีอิทธิพล 16 ประเภท ย้ำว่า ตามข่าวที่สื่อมวลชนฉบับหนึ่งได้นำเสนอข่าวว่าในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีมาเฟียและมีบุคคลแปลกหน้าต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องยืนยันตรงกันว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่มีผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียในพื้นที่แน่นอน ส่วนการตั้งจุดตรวจของ ตำรวจ 23 โรงพัก เป็นการตั้งจุดตรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งไม่มีกรณีของมาเฟียที่เข้ามาในพื้นที่แต่อย่างใด โดยได้หยิบหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 ถามคณะกรรมการในที่ประชุม

ภายหลังมีการนำเสนอข่าวของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานแจ้งว่า ประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ 7 ชั่วโคตร ทั้ง 8 โครงการฯ วิพากษ์วิจารณ์กันไปถึงคำจำกัดความของข้อกำหนดผู้มีอิทธิพล 16 ข้อ ที่ต้องการให้ทางคณะกรรมการดังกล่าว ตรวจสอบในข้อที่ 2 การฮั้วประมูลงานราชการ เพราะต่างสงสัยว่ากรณีการทิ้งงานที่สร้างผลเสียหายต่อภาครัฐแต่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพี่น้องประชาชนนั้น เข้าเงื่อนไขของผู้มีอิทธิพลหรือไม่