ล่าสุด ฟอรั่ม The Igniting Power of Well-being in Education คิกออฟความร่วมมือ อัปเดตเทรนด์และกิจกรรมสู่การมีสุขภาวะที่ดี รับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

ฟอรั่ม The Igniting Power of Well-being in Education (การจุดประกายเพื่อสุขภาวะที่ดีในสถานศึกษา) ภายใต้โครงการยกระดับสถานศึกษาสู่ต้นแบบการสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ บริษัท พรอสเพอร์ เวล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์จัดขึ้น เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สุขภาวะที่ดีให้เด็ก-เยาวชนไทย เติบโตสมวัย แชร์มุมมองการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนจาก Guest Speaker ผู้มีบทบาทองค์ความรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูล แนวโน้มกระแสนิยม เชื่อมโยงเครือข่าย เสนอทางเลือกในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดี (Well-being)

อุเทน ชนะกุล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ประธานในงานกล่าวถึงการขับเคลื่อน สร้างสุขภาวะให้เด็กไทยว่า การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ ที่เข้าร่วมในกิจกรรม ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทางด้านการพัฒนาการเรียนรู้ การศึกษา สังคมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

“พรอสเพอร์ เวล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีความมุ่งมั่นยกระดับและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีสุขภาวะที่ดี ริเริ่มโครงการสร้างสรรค์ร่วมกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายของประเทศเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) ถูกกำหนด อยู่ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งให้มนุษย์มีภาวะที่สมบูรณ์ มีความเป็นอยู่ที่ดี เชื่อมโยงสุขภาพกาย จิต สังคมและปัญญาและอาจเชื่อมโยง Well being ไปออกแบบกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความยากเล่น อยากเรียนรู้ของเด็ก ๆ สามารถพัฒนาในด้านต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องลงทุนกับเด็ก ผ่านการศึกษา ผ่านระบบสาธารณสุขและผ่านระบบการคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เด็กทุกคนจะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ”

การพัฒนาเด็กกับความท้าทายสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “Childhood Development : A New Challenge to Achieve the SDGs” หนึ่งในหัวข้อ Forum: The Igniting Power of Well-being in Education

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจากนิยามมีความเกี่ยวข้องกับเด็ก กับคนรุ่นต่อไป การที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหน้าที่ของคนทุกคน

“เด็กคือกลไกสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การศึกษาที่ดีจะส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นวัตกรรม นอกการศึกษา ต้องดูแลสุขภาพ เด็กที่มีสุขภาพดีจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต ต้องได้รับสารอาหารที่ดี มีความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต” SDGs 17 มีข้อย่อยที่เกี่ยวข้องกับเด็กย่อยลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขจัดความรุนแรง ความเป็นภัยทุกรูปแบบ ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ในมิตินี้ทั่วโลกต่างผลักดันเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก การพัฒนาเยาวชน

ทางด้าน หริสวรรณ ศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ Buddy Thai Application กล่าวในหัวข้อ “The Dragon Digital Native : เปิดเทรนด์ใหม่ เข้าใจ Gen Alphaว่าเจเนอเรชันที่ต่างกันอาจมีความกลัวไม่เหมือนกัน หรือมีแรงจูงใจการใช้ชีวิตที่ต่างกัน โดยวันนี้โฟกัสที่เจนรุ่นใหม่ล่าสุด Gen Alpha แต่อย่างไรแล้วต่อจากนี้เจนใหม่ก็พร้อมจะมาถึง

“เด็กใน Gen Alpha คือเด็กที่เกิดในปี ค.ศ. 2010- 2024 เด็กเจนนี้เติบโตมากับเทคโนโลยี บ่อยครั้งจะเห็นใช้มือซูมเข้าซูมออกหน้าหนังสือเหมือนแท็บเล็ต เด็กกลุ่มนี้เติบโตในช่วงโควิดต้องใส่หน้ากาก เรียนออนไลน์ เรียนโฮมสคูลโดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งมีความเป็นแฟชั่น ฯลฯ ผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเด็ก Gen Alpha ต้องให้มีทักษะ 5 ด้าน ให้เด็กเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้จากภายนอก สอนให้เด็กมีมารยาททางสังคมออนไลน์ ให้มีทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน และผู้ใหญ่ต้องใส่ใจอารมณ์ของเด็กพอ ๆ กับการเสริมทักษะทางวิชาการ”

“Children’s Well-being: A Global Trends Challenges” ความท้าทายระดับโลกต่อการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาวะที่ดี โดย ลอร่า แม็คลัคกี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WellMi Wellness Solutions กล่าวว่า สิ่งที่เน้นย้ำร่วมพัฒนาไปด้วยกันมีทั้งเรื่องปัญญาประดิษฐ์ สุขภาพจิตของเด็ก การเข้าถึงการศึกษาในโอกาสที่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการในการตรวจสอบตรวจวัดเรื่องโภชนาการเด็กและสุขภาพโดยรวม

ทางด้าน “Health Sciences for Gen Alpha Engagement” วิทยาศาสตร์สุขภาพกับการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเด็ก โดย พัชรพร พ่อค้าชำนาญ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ผู้อำนวยการ พรอสเพอร์ เวล อะคาเดมี ให้ข้อมูล ชี้ความสำคัญกิจกรรมทางกาย ยกตัวอย่างรูปแบบกิจกรรมการทำงานกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ร่วมกับการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก การปลดปล่อยจินตนาการ รวมถึงกิจกรรมการรวมกันระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก โดยเน้นองค์ประกอบของร่างกายเป็นหลักเพื่อนำสู่องค์ประกอบทางด้านสุขภาวะทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา นำเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ พัฒนาการการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่เหมาะสมในทุกช่วงวัย เหมาะสมกับเทรนด์ปัจจุบันและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา.