เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 67 ที่ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อาคารสำนักงานอธิบการบดีและบริหารสินทรัพย์ ชั้น 3 อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (ป.กมธ.ป.ป.ช. สภา) นายกิตติ สมทรัพย์ รอง ป.กมธ.คนที่สอง นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ รอง ป.กมธ.คนที่ 6 นางสุขสมรวย วันทนียกุล กรรมาธิการ นายนิพนธ์ คนขยัน เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ และว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการประจำคณะ กมธ.ป.ป.ช. สภา นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เขต 5 ประชุมร่วมกับจังหวัด เพื่อสรุปผลการตรวจสอบการลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม นายธนภัทร ณ ระนอง รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายอำเภอหนองกุงศรี นายอำเภอห้วยเม็ก ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

การประชุมครั้งนี้ เป็นการหาข้อสรุปเพื่อเติมเต็มในสำนวน กมธ.ป.ป.ช. สภา ซึ่งได้ทำการพิจารณาปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี 2566 โดยนายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต1 พรรคเพื่อไทย ได้นำยื่นญัตติปัญหาตัดไม้พะยูงทั่วประเทศไปอภิปรายและ กมธ.ป.ป.ช. ได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณา แยกออกเป็น 2 กรณี คือกรณีแรกเป็นการลักลอบตัดไม้พะยูงในสถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ จำนวน 1 ต้น และมีการนำไม้ของกลางไปเก็บเอาไว้ที่เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด แต่ไม้พะยูงหายไป

ส่วนอีกกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน เป็นการฝ่าฝืน ใช้ช่องว่างของระเบียบพัสดุ และโดยเฉพาะข้อสั่งการ ว.20 ปี 2560 ของอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่พบเจ้าหน้าที่ของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่ง อนุญาตให้มีการตัดไม้พะยูงไปขายให้กับนายทุนข้ามชาติ ที่มีผู้ต้องหาในคดีเบื้องต้นจำนวน 17 คน อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขในเรื่องระเบียบของกรมธนารักษ์เป็นหลัก

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ป.กมธ.ป.ป.ช. สภา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญปัญหานี้ กมธ.ป.ป.ช. ได้ทำการตรวจสอบและสรุปเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาก็คือ เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของกรมธนารักษ์ทุกขั้นตอน ซึ่งในสำนวนของ กมธ.ป.ป.ช. กรมธนารักษ์ก็ยืนยันว่าการอนุญาตตัดไม้พะยูงในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นการทำผิดระเบียบ เริ่มจากแนวคิดที่จะตัดไม้พะยูง รวมไปถึงแนวทางการจำหน่ายไม้พะยูงระหว่างพ่อค้ากับภาครัฐ มีการยึดราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาด เป็นการกระทำที่ทำให้ภาครัฐเสียหาย เพราะการกระทำขาดผู้เชี่ยวชาญในการให้ความเห็นในเรื่องราคา โดยเฉพาะกรณีโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ไม้พะยูง 22 ต้นใหญ่ ถูกประมูลขายไปในราคาเพียง 153,000 บาท ทั้งที่ราคาจริงเมื่อวัดออกมาเป็นปริมาตรในท้องตลาดสูงกว่า 4 ล้านบาท ดังนั้นบุคคลใดที่ต้องรับผิดชอบ กมธ.ป.ป.ช. จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ปัญหานี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย จะได้นำไปใช้เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้คงอยู่

“ดังนั้น ผลจากการสอบสวน กรมธนารักษ์ กรรมการสอบสวนสรุปมายังพบว่า มีบางโรงเรียน ที่ขออนุญาตตัดและตั้งคณะกรรมการสอบราคาในวันเดียวกัน หมายถึงอนุมัติตัดในวันเดียว มีลักษณะเร่งรีบเป็นกระบวนการที่ส่อไปในทางทุจริต เรื่องนี้จึงเป็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นเรื่องที่ กมธ.ป.ป.ช. จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางราชการ จึงมีประเด็นที่ต้องขบคิดร่วมกันว่า กมธ.ป.ป.ช. จะวางแนวทางป้องกันอย่างไร ซึ่งก็พบว่าหนังสือเวียน กรมธนารักษ์ ตาม ว.20 วันที่ 1 ก.พ. 60 ควรจะมีการปรับปรุงหนังสือให้มีความชัดเจน ในกรณีการตัดตามความจำเป็นที่ควรจะมีกรอบที่ชัดเจนมากว่านี้ ที่จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา” รศ.ชูศักดิ์ กล่าวในที่สุด

สำหรับคดีนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ภาครัฐจะต้องนำมาทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ที่จะกระจายลงสู่ภูมิภาค เนื่องจากการออกหนังสือหรือคำสั่งที่ไปเกี่ยวข้องในเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ เป็นสิ่งที่จะต้องมีความรัดกุมเอาใจใส่ ในทุกระดับโดยเฉพาะข้าราชการ ที่อาจจะมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากช่วงว่างและกฎระเบียบของภาครัฐ จึงควรที่จะสร้างความตระหนัก สร้างสำนึกให้ข้าราชการมีศีลธรรม มีจรรยาบรรณและคุณธรรม ไม่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบประชาชนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้.