น.ส.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช. ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร  ในไตรมาส 1 ปี 67 พบว่า ไทยมีประชากรวัยแรงงานจำนวน 59.1 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.2 ล้านคน หรือ 68% ของประชากรวัยแรงงาน ที่เหลือเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน โดยเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ซึ่งการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม ยังคงเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวสูงถึง 10.3% แสดงให้เห็นถึงการเติบโตในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศ 

น.ส.ปิยนุช กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ สสช. ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยในไตรมาสนี้ มีผู้เสมือนว่างงานมีประมาณ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อนหน้า ประมาณ 3.9 แสนคน เมื่อพิจารณาสถานการณ์การว่างงานพบว่า ในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 1% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 4.1 แสนคน ส่วนปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน คือลดลง 4.9% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวประมาณ 7.9 หมื่นคน

สถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 1 ปี 67 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบถึงผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมในไตรมาสถัดไป รวมถึงจำนวนผู้มีงานต่ำกว่าระดับ และผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น