เมื่อ กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ที่สนใจพัฒนาความรู้ให้กับผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในชุมชนยื่นข้อเสนอเพื่อขอทุนทำ โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ทำให้ในปีนี้มีโครงการดี ๆ กว่า 500 โครงการได้ถูกส่งมาจากทั่วประเทศ และเพื่อให้ได้โครงการที่เหมาะสมกับชุมชน และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ กสศ. จึงได้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 80 คน จาก 4 ภาคส่วน ที่ประกอบด้วย ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคสื่อมวลชนมาช่วยกันพิจารณา

หลายปีแล้วที่ผมได้รับเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ ร่วมกับกูรูจากภาคส่วนอื่น ๆ มาช่วยกันถามและเสนอแนะในมุมที่แต่ละคนชำนาญบางปีได้คัดเลือกโครงการต่อยอดและขยายผล แต่ปีนี้ได้ช่วยดูโครงการใหม่ ๆ เดาว่าผู้จัดคงสุ่มเปลี่ยนไปทุก ๆ ปี โดยไม่ให้เรารู้ล่วงหน้า เพื่อกันผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่เที่ยงธรรม นับเป็นหลักการธรรมาภิบาลที่ดีทีเดียว

สำหรับในปีนี้ มีโครงการที่ดี ๆ หลาย ๆ โครงการ ที่คัดเลือกกันยากมาก โดยกรรมการจะมีหลักเกณฑ์ที่ช่วยกันดู ดังต่อไปนี้ 1.องค์กรที่ขอมามีความพร้อมแค่ไหน มีความเชี่ยวชาญและผลงานในโครงการที่ขอหรือไม่ ทำงานกันเป็นทีมหรือพึ่งพาคนเพียงไม่กี่คน และดูว่าผู้บริหารโครงการมี Passion มากน้อยแค่ไหน อันนี้ต้องพูดคุยหลอกล่อดูความมั่นใจ และความดื้อนํ้าเต็มแก้ว ล้น หรือมีที่ว่างให้เติมคำเสนอแนะได้ 2.ทีมงานได้ทำการบ้านและความต้องการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายมาหรือไม่ โดยรู้ปัญหาของชุมชน และมีแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาหรือไม่ หรือได้สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียมาแล้ว หรือเอาสิ่งที่ตนเองอยากทำเป็นตัวตั้ง เพราะหลาย ๆ โครงการเป็นความต้องการของผู้บริหารโครงการเอง แต่ไม่ตอบโจทย์ผู้ด้อยโอกาส โครงการแบบนี้ก็ตกไป 3.โครงการที่นำเสนอต้องตอบโจทย์ ทั้งด้านทักษะอาชีพและการประกอบการ ทั้งการเพิ่มทักษะดูแลสุขภาพกายและใจ รวมถึงเพิ่มทักษะในปัจจุบัน เช่น ทัศนคติเชิงบวก ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว ทำงานเป็นทีม ทักษะดิจิทัล และตอบโจทย์ความยั่งยืน SDG คำถามข้อนี้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการจะถามได้ลึกมาก 4.การเพิ่มทักษะการเงิน การบัญชี การทำธุรกิจ การจัดการหนี้สิน และการระดมทุน เรื่องนี้ผมยิงคำถามกลุ่มไหน ส่วนใหญ่จะสะอึก ตอบแบบอํ้า ๆ อึ้ง ๆ แถ ๆ กันไป ผมคิดว่าผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจในกลุ่มต่าง ๆ ช่วยกันแนะนำเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้น อบรมทักษะอาชีพ ทำสินค้าต่าง ๆ ไปก็ขายไม่ได้ ขาดทุน ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนของโครงการส่วนใหญ่ และขอลุ้นให้โครงการดี ๆ ผ่านหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ จากกรรมการ 20 ชุดนะครับ

ผมมีเสียงกระซิบจากภาคธุรกิจว่า ถ้า กสศ. ให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะทางธุรกิจ การตลาด การประชาสัมพันธ์ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วกลับด้านขบวนการคิดจะดีมาก โดยสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจให้มากกว่านี้ เช่น หอการค้าจังหวัด หรือบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จะช่วยให้โครงการที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน.