เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย บริเวณแม่น้ำโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะดังกล่าวได้รับฟังการบรรยายสรุปเรื่องความคืบหน้าการสำรวจและปักปันหลักเขตแดนแบบคงที่ จากนายกาจฐิติ วิวัธนานนท์ ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และผู้แทนจากกรมแผนที่ทหาร สำหรับแนวชายแดนไทย-มาเลเซียมีความยาวประมาณ 647 กิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้ปักปันเขตแดนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการปักหลักเขตแดน สำหรับบริเวณแม่น้ำโก-ลกที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตแดนไทย-มาเลเซียด้วยนั้น ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจและปักหลักเขตแดนแบบคงที่ ตั้งแต่ปี 2543-2552 ใช้เวลา 9 ปี ซึ่งได้กำหนดแนวอ้างอิงเขตแดนแล้ว 1,550 แนว

จากนั้น คณะดังกล่าวได้ลงเรือสำรวจแนวร่องน้ำลึกระหว่าง 2 ประเทศบริเวณแม่น้ำโก-ลก สภาพ 2 ฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ซึ่งมีบางส่วนที่ฝ่ายไทยและมาเลเซียสร้างตลิ่งรักษาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำฯ รวมถึงพื้นที่วางแผนจะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2

ทั้งนี้ นายณัฐพล กล่าวว่า การปักปันเขตแดนไทย-มาเลเซีย แม้ใช้เวลากว่า 115 ปี นับจากสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ค.ศ.1909 แต่เดินหน้าได้ดี ไม่มีข้อเป็นพิพาท ถือเป็นแบบอย่างสำหรับกรณีของชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ สำหรับกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำการรักษาอธิปไตยเป็นอันดับแรก และจะต้องทำให้การปักปันเขตแดนสร้างประโยชน์ต่อประชาชนของ 2 ฝั่ง ซึ่งการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนจะช่วยป้องกันปัญหาและอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางไปมาและค้าขายสินค้าระหว่างกัน ช่วยสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนในระยะยาว

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าเรื่องการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในการปักปันและปักหลักเขตแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นการเจรจา และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป จึงยังยากที่จะบอกได้ว่าความร่วมมือนี้จะสำเร็จได้เมื่อไหร่ แต่ขอยืนยันว่าฝ่ายมาเลเซียเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว และถ้าขับเคลื่อนไปได้ ก็จะสามารถบรรลุข้อตกลงและสร้างประโยชน์ให้ทั้ง 2 ประเทศแน่นอน

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะลงมาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง นายณัฐพล กล่าวว่า นายกฯ คงมาตรวจดูชายแดนก็เพื่อสนับสนุนเรื่องการพัฒนา

จากนั้น คณะดังกล่าวได้เดินทางไปยังโรงเรียนวัดพิกุลทองวราราม รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อพบปะชุมชนมาเลเซียเชื้อสายสยาม และรับฟังบรรยายสรุปการสอนภาษาไทยของชุมชนดังกล่าว พร้อมรับฟังปัญหาจากกลุ่มคนไทยในรัฐกลันตันที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขตแดน

ต่อมา ในวันนี้ (29 พ.ค.) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานเปิดการสัมมนา “แนวปฏิบัติด้านเขตแดนและการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนแม่น้ำโก-ลก” ที่โรงแรมเก็นติ้ง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในมิติของการดำเนินการด้านการทูตเชิงรุก ว่า การสัมมนาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการในพื้นที่ เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนแม่น้ำโก-ลก โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมแผนที่ทหาร และกรมสนธิสัญญาฯ เป็นวิทยากรบรรยาย และเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและความขัดแย้งจากการใช้พื้นที่ชายแดน ช่วยสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคง และส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการลงพื้นที่ในแม่น้ำโก-ลก ได้เห็นการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพิ่มขึ้น เห็นการไปมาหาสู่กันและมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน คณะกรรมการการจัดทำหลักเขตแดนร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย อยู่ระหว่างการเจรจา สำรวจ และจัดทำหลักเขตในแม่น้ำโก-ลก โดยเน้นย้ำว่า เส้นเขตแดนถาวรจะไม่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ที่ดีในพื้นที่ อีกทั้งจะต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเส้นเขตแดนที่ชัดเจนจะทำให้เส้นภาครัฐ และภาคประชาชนทั้งสองฝ่ายรู้ขอบเขตการใช้อำนาจ และการใช้พื้นที่บริเวณแม่น้ำโก-ลก อย่างชัดเจน ลดปัญหาการกระทบกระทั่ง ในประเด็นเรื่องเขตแดน