เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงความคืบหน้า “ยาโมลนูพิราเวียร์” ว่า  กรมการแพทย์ได้พูดคุยกับบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับยาต้านไวรัสที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นหนึ่งในยาที่ให้ความสนใจและได้มีการพูดคุย

“โมลนูพิราเวียร์” เป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดเดียวที่ทำออกมาตอนนี้ หลักการ คือ ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ขณะนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์พิสูจน์แล้วว่า สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เพิ่มจํานวนได้ ทั้งนี้ได้มีการวิจัยแบบสุ่มระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย ปานกลางและไม่ได้รับวัคซีน ได้ให้ยาภายใน 5 วัน ตั้งแต่วันที่เริ่มมีอาการ โดยผู้ป่วยทุกรายจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย เช่น โรคประจำตัวร่วมด้วย อย่างใดอย่างหนึ่ง ร่วมกับมีอาการป่วยไม่รุนแรง

ข้อมูลจากการวิเคราะห์เบื้องต้นในการทำวิจัยกับผู้ป่วย 775 คน โดยให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน ในปริมาณ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น เป็นระยะเวลา 5 วัน พบว่าลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตภายใน 29 วันได้ร้อยละ 50 โดยในกลุ่มที่ได้รับยาจริง พบว่า ไม่มีอาการเสียชีวิตเลย

ทั้งนี้ แผนจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ หากได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินได้ ก็จะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ด ตัวแรกที่จะได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐโดย Merck ตั้งเป้าผลิตยาให้ได้สำหรับ 10 ล้านคนภายในปีนี้ และมีแผนการทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อให้ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

ส่วนที่มีรายงานว่าการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์คลอสละ 24,000 บาท นั้น นายแพทย์ สมศักดิ์ อธิบายว่า เป็นการคำนวณราคาในประเทศที่มีรายได้สูง ในส่วนของประเทศไทย ราคาจะถูกกว่านั้น ส่วนของการเปิดเผยราคาที่ทำการซื้อขาย เบื้องต้น ยังขอไม่เปิดเผยราคา เนื่องจากอยู่ในข้อตกลงสัญญาซื้อขายกับบริษัทผู้ผลิต แต่ยืนยันว่า ราคาจะถูกกว่าสหรัฐฯแน่นอน

ในส่วนของประเทศไทย กรมการแพทย์ได้หารือกับ MSD ซึ่ง เป็นบริษัทลูกของ Merck ตั้งแต่ช่วงกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้น ช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน ได้จัดหาจัดซื้อ และสั่งจอง, ช่วงกันยายนถึงตุลาคม ได้ทำสัญญาซื้อขายยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งมีข้อตกลงบางส่วนที่ต้องเก็บเป็นความลับ โดยได้เซ็นสัญญาเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่สหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นก็จะเตรียมขึ้นทะเบียนกับอย.ไทย ประมาณเดือนพฤศจิกายน

คาดว่าประเทศไทยจะได้ยาโมลนูพิราเวียร์ มาสำรองใช้ ประมาณเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ต้องอยู่กับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาด้วยว่าจะขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 1-2 บริษัท รวมถึง บ.ไฟเซอร์ ที่ได้มีการทดลองวิจัยยาต้านไวรัสโควิด-19 ด้วย

สำหรับกลุ่มอาการที่จะใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ คือ กลุ่มอาการน้อยถึงปานกลาง ที่ควรจะมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่แนะนำให้กินยาชนิดนี้เบื้องต้น ผู้ป่วยโควิด จะได้รับยาคลอสนึง 40 เม็ด กินเช้า-เย็น รวมวันละ 8 เม็ด เม็ดละ 200 มิลลิกรัม การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในประเทศไทย จะต้องมีการประชุมหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ว่าจะถูกนำมาแทนยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หรือจะใช้รักษาควบคู่กันไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา