กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวถึงมาตรการป้องกันหลังจากนี้ โดยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการสัตว์เลี้ยงได้แก่ 1. พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ใบ อภ.2) ยื่นขอที่หน่วยงานของ กทม.

2. พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศกรมปศุสัตว์เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตทางการค้าหรือหากำไร ในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์ประเภทสุนัขและแมว พ.ศ. 2563 (ใบอนุญาตให้ทำการค้าหรือซากสัตว์ ใบ ร.10) ยื่นขอกับกรมปศุสัตว์ และ 3. พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ข้อ 7 (3)

จากนโยบายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง “ตลอดช่วงชีวิต” ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ปี 66 ได้เริ่มทำการสำรวจในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ค. 66 พบกิจการที่เกี่ยวกับสุนัขและแมว 233 ราย มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ใบ อภ.2) เพียง 6 ราย ไม่มีใบอนุญาต 227 แห่ง ส่วนการขออนุญาตประเภท ร.10 มีใบอนุญาต 30 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 36 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กทม. กลับไม่เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ใบ อภ.2) ให้แก่ร้านค้าสัตว์ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนของกฎหมาย จึงเคยมีหนังสือถามถึงข้อกฎหมายไปยังกรมอนามัย เพื่อสอบถามประเด็นกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 และได้รับคำตอบกลับมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 ว่ากิจการค้าสัตว์ เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ได้ความชัดเจนแล้ว กทม. พร้อมกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจผู้ค้าในเรื่องการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทอีกครั้ง ในตลาดสังกัดสำนักงานตลาดกรุงเทพฯ คือ ตลาดนัดจตุจักรพลาซ่า สนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี รวมถึงสั่งปูพรม 50 สำนักงานเขต ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ค้า ซึ่งผู้ค้าจะต้องขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค. 67
แล้วกิจการใดบ้างที่จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ใบ อภ.2)… ในเรื่องนี้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า คำว่ากิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ ต่อสุขภาพของคน ดังนั้นในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ต้องขออนุญาตมี ดังนี้ (1) การเพาะพันธุ์เลี้ยงและการอนุบาลสัตว์ทุกชนิด อาทิ ฟาร์ม, ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง (2) การประกอบกิจการเลี้ยง รวบรวมสัตว์ หรือธุรกิจอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าชมหรือเพื่อประโยชน์ของกิจการนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าดู หรือค่าบริการในทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ก็ตาม อาทิ คาเฟ่สัตว์เลี้ยง และ 9(21) ประเภทกิจการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว อาทิ ร้านอาบน้ำ ตัดขนสัตว์ โรงแรมสัตว์

ในส่วนของแนวทางดำเนินการจากนี้ จะติดตามการขึ้นทะเบียนเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงให้ถูกต้อง ครบทั้ง 50 เขต น.ส.ทวิดา ย้ำว่า สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเปิดร้านค้าสัตว์เลี้ยง จะต้องไปขออนุญาต ใบ ร.10 จากกรมปศุสัตว์ และขอใบ อภ.2 จากสำนักงานเขต เมื่อได้ใบอนุญาตเรียบร้อย จึงจะสามารถดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าสัตว์ได้ นอกจากนี้ กทม. อยู่ระหว่างส่งจดหมายถึงผู้ค้าสัตว์ที่มีร้านอยู่ในสังกัดสำนักงานตลาดกรุงเทพฯ ให้ดำเนินการขออนุญาตใบ อภ.2 และในสัปดาห์หน้าจะไปตั้งโต๊ะ รับยื่นเอกสารพร้อมกับกรมปศุสัตว์ต่อไป.