เมื่อเวลา 22.00 วันที่ 21 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  (อว.) ชี้แจงงบประมาณของกระทรวงอว. ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 153,565. 2580 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นด้านอุดมศึกษา 112,358.8097 ล้านบาท คิดเป็น 73.17% และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 41,206.4483 ล้านบาท คิดเป็น 26.83% ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทางกระทรวง อว. ย้ำถึงพันธกิจในการพัฒนากำลังคนในระดับอุดมศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาประเทศ

รมว.อว. กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้เข้ามาบริหาร ได้มีนโยบาย 2 มิติ ได้แก่ มิติอุดมศึกษา “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” เพื่อให้นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกสามารถเข้าเรียนได้ทุกคน มีมาตรการ Free TCAS เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเสียค่าสมัครสอบ ทำให้รอบการสอบที่ผ่านมามีผู้สมัครสอบเพิ่มมากขึ้น โดยมีนักเรียนเลือกครบ 10 อันดับ เพิ่มขึ้นกว่า 35,000 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

นอกจากนี้ อว. ยังดำเนินการพัฒนาการเรียนรู้แบบ lifelong learning โดยเน้นให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ที่คนวัยทำงานสามารถกลับมา Upskill Reskill ในทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง นโยบายผลักดันให้หลักสูตรการฝึกประสบการณ์ทำงานในระหว่างเรียน (Experiential Learning) เช่น โครงการสหกิจศึกษา โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อให้นักศึกษาพร้อมที่จะทำงานหลังจบการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปี หลักสูตรที่ผลิตคนเพื่อไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ต้องเป็นรูปแบบ Experiential Learning ทุกหลักสูตร

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า มิติด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีนโยบาย “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ผ่านกลไกกองทุน ววน. อาทิเช่น อุตสาหกรรมดิจิทัลก็มีการส่งเสริมการวิจัยในเรื่อง AI, Cloud, Blockchain, High Performance Computing อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์และการออกแบบชิป อุตสาหกรรม EV และแบตเตอร์รี่ และอุตสาหกรรมอาหารในเรื่องของ Future Food, Functional Ingredients และ Personalized Food เป็นต้น

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ถึงเรื่องการเร่งกระตุ้นให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ในขณะนี้ทาง อว. ไม่ได้รองบประมาณจากรัฐเท่านั้น แต่ได้พยายามที่จะทำงานกับเอกชน และกองทุนอื่นๆ เช่น มูลนิธิกสิกรไทย เพื่อพัฒนาสมุนไพร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน  ด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ BOI ในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น EV เซมิคอนดักเตอร์ และดิจิทัล

รมว.อว. กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่ให้ประเทศไทยเป็น Hub ของ 8 อุตสาหกรรม ทุกอุตสาหกรรมต้องการกำลังคนทักษะสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรม high tech. ที่ความพร้อมของ high-skilled workforce เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน โดยมี Flagships ให้กระทรวง อว. เน้นงานที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศเช่น นโยบาย อว. For Semiconductor อว. For EV อว. For AI เป็นต้น โดยมีแผนพัฒนาคนทักษะสูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในด้าน Semiconductor 80,000 คน EV 150,000 คน AI 50,000 คน ใน 5 ปี

“ อว.ได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ แล้ว และยังมีแผนในการพัฒนากำลังคน เพื่อพัฒนาคนในด้านอื่นๆ ที่จะยกระดับ อุตสาหกรรมใหม่ 8 ด้าน ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของท่านนายกรัฐมนตรี กระทรวง อว. จะใช้งบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ แห่งนี้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด” น.ส.ศุภมาส กล่าว.