เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 67 ที่วัดพัฒนาธรรมาราม หรือวัดบ้านด่านช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ มีพิธีพุทธาภิเษก เหรียญรุ่นหน้ายักษ์เมืองสุรินทร์ ครบ 8 รอบ ของ “หลวงปู่เฮง ปภาโส” เกจิชื่อดังแห่งแดนอีสานใต้ โดยทีมงานสร้างพระชื่อดัง คือ นายพรศักดิ์ สุขดิษฐ์ หรือ “เต็ง สี่ พระใหม่สากล” ซึ่งการทำพิธีในวันนี้ มีพระราชสุตาลังการ (ฉัตต์ สัจจวโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เจ้าอาวาสวัดพรหมสุรินทร์ และพระครูโพธิ์สุวรรณรัตน์ (หลวงพ่อแก่น คัมภีรมุนี) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณรัตน์โพธิยาราม อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ โดยมี “หลวงปู่เฮง ปภาโส” เป็นประธานในพิธี และหลังเสร็จพิธี มีการแจกเหรียญรุ่น “หน้ายักษ์เมืองสุรินทร์ ครบ 8 รอบ” ของ “หลวงปู่เฮง” ด้วย 1,000 องค์ ให้กับประชาชนที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้ พิธีวันนี้เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมาสมทบทุนสร้างฐานมณฑลรูปหล่อเหมือนหลวงปู่เฮง ปภาโส องค์ใหญ่ที่สุดในโลก และบูรณปฏิสังขรณ์ในวัด เพื่อจรรโลงและสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อแป
โดยก่อนเริ่มพิธีพุทธาภิเษก ก็ได้มีการทำพิธีพราหมณ์ที่บริเวณด้านหน้าศาลาที่จะทำพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งก็ได้มีการจุดธูปเสี่ยงทายขอโชคลาภตามธรรมเนียมความเชื่อ ซึ่งก็ได้เลขเด็ด คือ เลข 182 โดยหลังจากเสร็จพิธี ประชาชนที่มาร่วมในพิธีจำนวนมาก ต่างก็กรูกันเข้ามาส่องเลขเด็ดกันอย่างคึกคัก พร้อมกับพากันแบ่งเอาเครื่องเซ่นไหว้บนโต๊ะบวงสรวง นำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
จากนั้นทางคณะจัดสร้างพระ ได้เริ่มทำพิธีพุทธาภิเษก เหรียญรุ่น “หน้ายักษ์เมืองสุรินทร์ ครบ 8 รอบ” ของ “หลวงปู่เฮง” โดยมี “หลวงปู่เฮง ปภาโส” เกจิชื่อดังแห่งแดนอีสานใต้ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งก่อนเริ่มพิธี ทีมงาน “เต็ง สี่ พระใหม่สากล” โดย นายพรศักดิ์ สุขดิษฐ์ ก็ได้ถวายเงินปัจจัย 600,000 บาท ให้กับ “หลวงปู่เฮง” ด้วย โดยภายหลังจากเสร็จพิธี ก็ได้มีการแจกเหรียญจำนวน 1,000 องค์ ให้กับประชาชนทั้งชาวไทยและกัมพูชา ที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย
สำหรับชีวประวัติของ “หลวงปู่เฮง ปภาโส” เจ้าอาวาสวัดพัฒนาธรรมาราม หรือวัดบ้านด่านช่องจอม ปัจจุบันสิริอายุได้ 97 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น เทพเจ้าแห่งโชคลาภของแดนดินถิ่นอีสานใต้ โดยวัดตั้งอยู่ที่ บ้านด่านช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ หลวงปู่เฮงเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2470 ปีเถาะ พ่อแม่เป็นชาวกัมพูชา แต่ได้อพยพมาอยู่ประเทศไทยในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง โดยย้ายมาอยู่หมู่บ้านปราสาท ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ประกอบอาชีพทำนาทำสวน มีพี่น้องด้วยกัน 13 คน เป็นบุตรคนที่ 7 ที่หมู่บ้านปราสาท ในวัยเด็กอายุประมาณ 13-14 ปี พระอาจารย์เฉิด ธัมมกโร ลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เฮง เดินทางธุดงค์มาจากประเทศกัมพูชา เข้ามาเยี่ยมญาติ พี่น้องที่ประเทศไทย บอกจะเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะไปได้ขอกับแม่ของท่าน โดยขอให้น้องไปด้วย และจะได้สอนให้ได้หัดเรียนเขียนอ่านหนังสือ ทำให้ได้ศึกษาอักษรขอมศาสตร์วิชาแขนงต่างๆ ตั้งแต่บัดนั้น ศึกษากับพระอาจารย์เฉิด พระพี่ชายและออกธุดงค์ไปด้วยเสมอ
จนอายุ 15 ปี ก็ได้กลับมาบ้านและบวชเรียนเป็นเณร เรียนภาษาไทย ขอม และภาษาบาลี เพิ่มเติม สอบได้นักธรรมโท ครั้นอายุ 21 ปี ไปเป็นทหารที่กรมทหารม้า จ.ลพบุรี เลี้ยงม้าขี่ม้าอยู่ 3 ปี หลังปลดประจำการก็ท่องเที่ยวไปเรื่อย ช่วงชีวิตหนึ่งของท่านท่องเที่ยวไปทั่ว และไปอยู่ประเทศกัมพูชา จนกระทั่ง พ.ศ. 2495 ได้ย้ายไปอยู่ จ.จันทบุรี มีโอกาสพบกับหลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จึงตัดสินใจบวช หลวงพ่อคงได้ถ่ายทอดวิทยาคม อักขระเลขยันต์ ภาษาขอม เขียนผงลบผง สักยันต์ และคาถาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะคาถาคงกระพันชาตรี ย่นระยะทาง มุ่งศึกษาจนมีความชำนาญ กระทั่งหลวงพ่อคงไว้ใจให้เขียนยันต์ อักขระแทน และเข้าร่วมปลุกเสกด้วย
พ.ศ. 2532 หลวงพ่อคงมรณภาพ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดวังสรรพรสแทน แต่อยู่ได้เพียง 6 พรรษา ก็ขอลาออกและธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลับมาบ้านเกิดอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ จนถึงปัจจุบัน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอีสานใต้และชาวกัมพูชาแถบชายแดน ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยเป็นพระที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ยามได้รับกิจนิมนต์ไปงานบุญต่างๆ ไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าอายุจะย่างเข้าสู่วัยชราและมีปัญหาด้านสุขภาพตามวัย อีกทั้งเมื่อท่านรับกิจนิมนต์แล้ว ท่านจะต้องเดินทางไปถึงสถานที่งานก่อนเป็นประจำ.