แต่ 20 ปีผ่านไปการศึกษาไทยแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ต่างคนต่างคิดต่างทำตามภารกิจและงบประมาณของตน ไม่ยอมบูรณาการกัน ล่าสุดคะแนนความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่ประกาศโดย IMD ของเราถีบตัวขึ้น 5 อันดับ แต่ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของเรากลับตกตํ่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งเป็นคะแนนสำคัญ ผมเดาว่าเวทีนี้ทางมูลนิธิ SCG คงจะชวน Speaker เด็ด ๆ มาส่งสัญญาณสำคัญ น่าจะคุ้มค่ากับการตื่นเช้าไปร่วมฟัง
ตอนเริ่มเวทีเสวนา เสียงเพลงบาร์นี่ ’I Love You…You Love Me… We‘re a Happy Family“ ดังก้องอยู่ในหัวผม เพราะเดาว่าวิทยากรบางท่านเป็นคุณพ่อลูกอ่อน คงจะอินเรื่องการศึกษาไทยเป็นพิเศษ ว่าแล้วท่าน ๆ ก็เริ่มเปิดเวทีด้วย BANI (Brittle, Anxious, Non-Lenear, Incomprehensible) & VUCA (Volatile, Uncertain, Complex, Ambiguous) จริง ๆ แม้จะเป็นคำวิชาการที่แปลยาก แต่มันคือความวุ่นวายที่เราเจอกันมาตั้งแต่ปี 2000 ศตวรรษที่ 21นี้ โลกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หลายองค์กรล้มหายตายจากไป มีองค์กรใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาแทนที่ สินค้าและบริการแบบดั้งเดิมแทบไม่มีที่ยืน มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาทดแทน และในเวลาไม่นานก็ถูกสิ่งที่ใหม่กว่า Disrupt อย่างรวดเร็ว ต่อไปเรื่อย ๆ คุณพ่อลูกอ่อนเหล่านั้น คงจะกังวลว่าจะสอนลูก ๆ ให้ทันโลกได้อย่างไร และระบบการศึกษาไทยจะถูกปฏิวัติให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ได้จริงหรือไม่? โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง…
มีการถกเถียงกันเสมอว่า เรามีการปฏิรูประบบการศึกษาตลอดเวลา พอมีรัฐมนตรี ท่านใหม่มาก็เปลี่ยนของเดิม เปลี่ยนบ่อยมาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนกลับไปที่เดิม แถมบางท่านเสริมว่า การปรับเปลี่ยนใช้กรอบของระบบราชการ และคนที่คิดก็คือคนในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นเอเลี่ยน ไม่ทันสมัย ไม่ใช่คนในศตวรรษที่ 21 ไม่แน่ใจว่าเขาหมายถึงผมหรือเปล่า ทั้งนี้ รัฐบาลเคยแยกหน่วยงานที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการทำงานจริง ออกจากกระทรวงศึกษาไปเป็นกระทรวง อว. แถมผนวกโครงสร้างเดิมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เพื่อปรับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับอาชีพใหม่ ๆ ในโลกความจริง แต่ปัจจุบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ยิ่งไม่ตอบโจทย์ จบแล้วแทบทำงานจริงไม่ได้ ต้องสอนงานกันใหม่
เมื่อก่อนมีคณะกรรมการประชารัฐด้านอาชีวะ ที่ช่วยเชื่อมการศึกษาแบบทวิภาคีระหว่างวิทยาลัยอาชีวะและอุตสาหกรรม เรียนทฤษฎีในห้องเรียนครึ่งหนึ่ง ฝึกทำงานในสถานประกอบการอีกครึ่งหนึ่ง เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย มีเงินเก็บก่อนจบเสียอีก ความคิดดี ๆ แบบนี้ช่วงหลังก็ถดถอยไป และขยายผลไม่ได้ ซึ่งแนวคิดนี้เคยเสนอสถาบันอุดมศึกษา แต่ส่วนใหญ่ไม่ตอบรับ เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่อยากปรับตัว และไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมที่ตัวเองสอนจริง ๆ กับไม่รู้ว่าการทำงานสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปจากตำราที่สอนมากแล้ว
ผมคิดว่าวิทยากรทุกท่านคงทราบดีว่า การเปลี่ยนแปลงระบบราชการยากที่สุด ท่านบอกว่าตอนนี้การเปลี่ยน Mindset ของผู้เรียนก้าวหน้าไปไกลแล้ว ทุกคนอยากเรียนรู้ แต่อยากเรียนเร็ว ๆ เรียนสิ่งที่ต้องใช้ พอรู้แล้วก็รีบไปทำงานหาเงินเลย พอทำงานแล้วไม่รู้อะไรก็ค่อยมาเติม Reskill/Upskill พวกเขาไม่ได้สนใจใบปริญญา นอกจากจะไปสมัครงานราชการ หรือสมัคร สว. เพราะด้วยปริญญาแปลก ๆ เขาอาจจะต้องไปออกทีวีเพื่อโชว์สกิลการพูดภาษาอังกฤษภายหลัง
ถ้าการเรียนรู้กระแสหลักและใบปริญญาไม่ตอบโจทย์ แล้วสถานประกอบการต่าง ๆ เขาปรับตัวกันอย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พึ่งพาตัวเอง” พวกเขาเปลี่ยนแปลงสถานประกอบการเป็นมหาวิทยาลัยย่อม ๆ มีการสอนหลักสูตรพื้นฐานกันใหม่ มี On the job training มีการ Coaching จากรุ่นพี่ แทบไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยเลย แม้แต่ SCG ก็มี Employee Training Roadmap ให้พนักงานทุกคนในทุกประเทศ เพราะเขารู้ว่าพนักงานต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ทีมงานที่เก่งและดี จะเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
เมื่อบริษัทต่าง ๆ ต้องให้ HR สอนงานกันใหม่ และใบปริญญาที่มาสมัครงาน ไม่การันตีทักษะความสามารถในการทำงานจริง แล้วนักศึกษาจะเสียเวลา 4 ปี และเสียค่าหน่วยกิตแพง ๆ ไปทำไมเราน่าจะสูญเสียงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ไปมากมาย เสียเวลา เสียโอกาส และขาดความสามารถในการแข่งขันถ้าไม่รีบเร่งแก้ไข ซึ่งจะดีกว่าไหมที่มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยวิชาชีพจะร่วมมือกับอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง จะได้ปรับหลักสูตร และวิธีเรียนรู้กันใหม่ให้รวดเร็วทันใจผู้เรียน ใช้งานได้ทันตามที่อุตสาหกรรมต้องการ และยังได้มาตรฐาน QA ของกระทรวง
ว่าแต่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ ถ้าเป็นราชการก็จะมีวิธีคิดที่มีกรอบเต็มไปหมด มีข้ออ้างว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน ถ้าเป็นภาคธุรกิจอุตสาหกรรม แม้จะไปได้เร็วแต่ก็ไม่มีพลัง เพราะไม่ได้มาจากนโยบาย แถมซํ้าซ้อนกับระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งคำถามนี้ คงจะต้องรอผู้มีบารมีมาตอบ อาจจะเป็นท่านรัฐมนตรี ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯสายการพัฒนาทุนมนุษย์ หรืออาจจะเป็นผู้นำแห่งอนาคตที่เรารอคอยกันอยู่ ซึ่งคำถามนี้สอดคล้องกับวิทยากรทุก ๆ ท่าน ที่ยํ้าว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ทุกคนช่วยกันทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามกำลังนี้ ยังขาดการเชื่อมโยงเชื่อมต่อให้เกิดพลังเป็น Learn to Earn ที่ Scale Up ได้จริง ๆ …SDG17 Partnership
for the Goals.