สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่า คณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ทั้ง 15 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกัน ในการให้ความเห็นเชิงปรึกษา “ซึ่งไม่ใช่คำพิพากษา” ว่านโยบายขยายอาณาเขตของอิสราเอลเข้าสู่ดินแดนปาเลสไตน์ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา “คือการยึดครอง” และ “ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ” พร้อมทั้งขอให้อิสราเอลยุติดำเนินการดังกล่าว “โดยเร็วที่สุด”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของศาลโลก เป็นไปตามมติของสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่มีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อปลายปี 2565 ขอความคิดเห็นจากศาลโลก เกี่ยวกับ “ผลกระทบทางกฎหมาย” จากการยึดครองและเดินหน้าขยายอาณาเขตของอิสราเอล “บนดินแดนของปาเลสไตน์”
READ HERE: the summary of the Advisory Opinion in respect of the Legal Consequences arising from the Policies and Practices of Israel in the Occupied Palestinian Territory, including East Jerusalem https://t.co/rLhpNKIjkc pic.twitter.com/98gPx7VQZw
— CIJ_ICJ (@CIJ_ICJ) July 19, 2024
ขณะเดียวกัน นับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ที่ศาลโลกมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอิสราเอลยึดครองเขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม หลังชนะสงครามหกวัน เมื่อปี 2510 แม้ถอนทหารออกจากฉนวนกาซา เมื่อปี 2548 แต่จนถึงปัจจุบัน อิสราเอลยังคงควบคุมพรมแดนฉนวนกาซาและจุดผ่านแดนส่วนที่ติดกับอียิปต์
อนึ่ง ศาลโลกเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการยึดครองและขยายอาณาเขตของอิสราเอลมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2547 ว่า การตั้งแนวกั้นระหว่างพรมแดน “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่อิสราเอลไม่ยอมรับและไม่เคยปฏิบัติตามการให้ความเห็นของศาลโลก
ด้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวถึงการให้ความเห็นครั้งล่าสุดของศาลโลก “เป็นการโกหก” เนื่องจาก “เป็นไปไม่ได้กับการที่ชาวยิวอาศัยอยู่บนดินแดนของตัวเอง จะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ออกแถลงการณ์ ยกย่องการให้ความเห็นของศาลโลก.
เครดิตภาพ : AFP