ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอารี พวงวรินทร์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 กล่าวว่า จากการที่โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) ได้ศึกษาพัฒนาคณะครู บุคลากรทางการศึกษาจัดการเรียน การสอน ตามโครงการจัดการเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 จนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) และโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวัน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 จึงได้ร่วมกับ นายประสงค์ พวงวรินทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายงานบริหารโรงเรียน น.ส.พวงบุปผา เสาวรส รองผู้อำนวยการฯ นำคณะครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยนักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) เข้าร่วมกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นกองบุญ ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นางอารี เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และก็เป็นปัญหาของประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งปัจจัยในการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน คือจำนวนประชากรแฝงที่มากขึ้น การขยายตัวของชุมชน การขาดความรู้ความเข้าใจ การไม่ตระหนักความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เมื่อมีประชาชนเพิ่มมากขึ้นในหลายระดับนั้น บางกลุ่มบุคคลยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดแบบอย่างในการจัดการขยะที่ถูกต้อง รวมถึงการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่า การนำขยะทิ้งออกนอกบ้านสร้างมลพิษ และขยะตกค้างในชุมชน โดยทางโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชนมีการลดปริมาณขยะ คัดแยก และนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์

โดยสามารถเริ่มต้นที่บ้านของตนเอง ให้เป็นที่น่าอยู่อาศัยเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคตต่อไป “โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) เป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ที่เห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะ โดยการนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นอึกหนึ่งวิธีในการลดปริมาณขยะ ช่วยลดภาวะโลกเดือด และมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจในทุกภาคีเครือข่าย ทั้งชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน โดยเฉพาะการนำมารีไซเคิล และการจัดตั้งธนาคารขยะ จากที่มองว่าขยะไม่มีค่ากลับกลายมาเป็นสะพานบุญ เปลี่ยนขยะเป็นแต้มบุญ เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้คนในชุมชนรับรู้ และมีส่วนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป” นางอารี กล่าว.