โดยที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ (AAD) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดเสวนาย่อย “งานออกแบบมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร” ณ อาคารห้องปฏิบัติการ Material Innovation Lab ก่อนจัดฟอรัมใหญ่ “AAD Global Forum : Design for a Better World” เปิดเวทีถ่ายทอดมุมมองการออกแบบ สร้างความยั่งยืนให้กับโลก

รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทิศทางนโยบายบริหารของ สจล. มุ่งสู่การเป็นสถาบันผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บุคลากร หน่วยงานภายในตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบ โดยเฉพาะแนวคิด การออกแบบสถาปัตยกรรมจากธรรมชาติ (Green Architecture) ที่มุ่งเน้นมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางความยั่งยืน

อีกทั้งการนำหลักธรรมชาติมาปรับใช้ ผ่านการเลือกวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้การจัดฟอรัมใหญ่ AAD Global นับเป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญ โดยมีเครือข่ายนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกเข้าร่วมงาน เพื่อร่วมแชร์ประสบการณ์ สร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล.กล่าวอีกว่า ฟอรัม AAD Global Forum: Design for a Better Worldที่กำลังจะมาถึง มีเครือข่ายผู้นำระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ นักออกแบบที่มีชื่อเสียง วิทยากรคนสำคัญเข้าร่วมมากมาย อาทิ Shigeru Ban นวัตกรผู้พัฒนาการใช้วัสดุกระดาษรีไซเคิลในงานสถาปัตยกรรมสำหรับการบรรเทาภัยพิบัติและส่งเสริมความยั่งยืน, Don Norman นวัตกรผู้บุกเบิกพัฒนาการออกแบบที่ เน้นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง Human Centered Design

ทางด้าน ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน ให้มุมมองกล่าวถึงบทบาทงานออกแบบที่ร่วมสร้างความยั่งยืนอีกว่า การก่อสร้าง การผลิตวัสดุหรือการขนส่งวัสดุ ฯลฯ มีส่วนที่สร้างผลกระทบ แต่หากมีความตระหนัก มีองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ ใช้วัสดุคาร์บอนตํ่า ใช้วัสดุในท้องถิ่นที่ลดระยะทางขนส่ง ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยโลก หรือแม้แต่ก่อนการก่อสร้าง

ในขั้นตอนออกแบบ หากออกแบบใช้พลังงานน้อยที่สุด หรือใช้พลังงานทดแทนก็ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ร่วมสร้างความยั่งยืน โดยข้อมูลเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้ตระหนัก อีกทั้งการออกแบบต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ขณะที่วิธีการที่มีความหลากหลายก็ต้องเรียนรู้และนำมาใช้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกัน

ทั้งนี้จากการเสวนาย่อยนำชม “อาคารห้องปฏิบัติการ Material Innovation Lab” หนึ่งในอาคารของคณะสถาปัตย์ฯที่มีแนวคิดออกแบบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอาคารประหยัดพลังงาน อาคารที่ร่วมขับเคลื่อนส่งต่อแนวคิดความยั่งยืน ทั้งนี้ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผนผศ.ธีรชัย เล่าถึงการปรับปรุงอาคารปฏิบัติการที่มีอายุกว่า 50 ปีหลังนี้ว่า อาคารหลังนี้ใช้
การปรับปรุงมากกว่าการรื้อสร้างใหม่
โครงสร้างหลัก เสา พื้น หลังคายังคงเป็นของเดิม ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีความแข็งแรง การปรับปรุงจึงมีหลักคิดใช้ของเดิมให้มากที่สุด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

“จากเดิมอาคารหลังนี้เป็นอาคารปฏิบัติงานไม้เป็นอาคารชุดแรก ๆ ของคณะฯ เมื่อเข้ามาปรับปรุงแนวทางการออกแบบจึงผสมผสานของเก่าและของใหม่นำมาเสริมกัน ด้านยาวของอาคารเป็นการเปิดออกทั้งทิศเหนือและใต้ด้วยผนังอิฐโปร่งและหน้าต่างบานเกล็ด เพื่อรับลมเข้าและให้ลมออก เกิดการไหลเวียนอากาศที่ดี และการก่อผนังแบบเรียงตามแนวสลับกับจับอิฐตั้งฉาก ทำให้ผนังมีความพรุน เหมาะกับการระบายอากาศ ฯลฯ”.