เมื่อวันที่ 24 ก.ค.67 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” แถลงเปิดตัวโครงการ “School Satellite Competition 2024 ปีที่ 2” ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมเยาวชนในการสร้างดาวเทียม CubeSat ดาวเทียมขนาดเล็กที่นำมาใช้งานจริงในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาบุคลากรในการเตรียมความพร้อมด้านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย จัดขึ้นบริเวณพื้นที่บูธ Space GISTDA โซน F ภายในงาน อว.แฟร์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เปิดเผยว่า โครงการ “School Satellite Competition 2024 ปีที่ 2” เป็นโครงการที่ดำเนินตามนโยบายของกระทรวงในการพัฒนากำลังคน เพื่อผลักดันเยาวชนของชาติให้ตระหนักรู้และสนใจในเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจอวกาศ รวมถึงส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ได้มาร่วมโครงการนี้ จะได้รับโอกาสการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
โครงการนี้จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างบุคลากรคุณภาพให้มีความพร้อม เพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศให้ก้าวสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต
.
ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ระบบนิเวศอวกาศ โครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศควบคู่กันไป สิ่งทาง GISTDA ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือเยาวชนของชาติ ต่อไปในอนาคตข้างหน้าคนกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติให้มีความเท่าเทียมกันในระดับสากล ซึ่งโครงการ “School Satellite Competition 2024 ปีที่ 2” จะเป็นการเน้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาได้ลงมือออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ เข้าใจกระบวนการพัฒนาดาวเทียมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ จนกระทั่งการสร้างและทดสอบดาวเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจจริง นอกจากจะได้พัฒนาความรู้ทางทฤษฎีแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานจริง รวมถึงทดสอบดาวเทียมจริงๆ ภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติกับพี่ ๆ วิศวกรไทยที่สร้างดาวเทียม THEOS-2A อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
.
สำหรับธีมการแข่งขันในปีนี้มีชื่อธีมว่า “Global Environmental Surveillance” จะเป็นการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เป็นภารกิจการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือประเมินสถานะของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วยดาวเทียม Cubesat เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โจทย์ในครั้งนี้ต้องการเห็นไอเดียของเยาวชนไทยสำหรับการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ การสร้างดาวเทียม Cubesat จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์ผลงานและประสบการณ์ที่โดดเด่นเพื่อเป็นแนวทางสู่สายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคตต่อไป