สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่าการขยายตัวของการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณข้าวในคลังของญี่ปุ่นลดลงแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรับประทานซูชิ, โอนิกิริ และอาหารอื่น ๆ ที่มีข้าวเป็นอาหารหลัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ใหญ่กว่าการบริโภค คือการลดลงอันเนื่องมาจากอากาศร้อนและการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงราคาที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าทางเลือกอื่น ๆ โดยข้อมูลของกระทรวงเกษตร ระบุว่า ปริมาณข้าวซึ่งภาคเอกชนมีไว้ในครอบครองอยู่ที่ 1.56 ล้านตัน ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2542 และลดลงร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี

“สาเหตุหลักซึ่งส่งผลให้การผลิตที่ลดลงเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ อุณหภูมิที่สูง, การขาดแคลนน้ำ และราคาข้าวที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับราคาพืชผลอื่น ๆ เช่น ข้าวสาลี” นายฮิโรชิ อิตาคุระ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร กล่าว “ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีส่วนสนับสนุนเช่นกัน” เขากล่าว พร้อมย้ำว่า ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ขาดแคลนข้าว

ญี่ปุ่นรับนักท่องเที่ยว 17.78 ล้านคนในครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งมากกว่าก่อนโรคโควิด-19 ระบาดถึง 1 ล้านคน นอกจากดอกซากุระที่กรุงโตเกียว, เกอิชาที่เมืองเกียวโต และความยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟฟูจิแล้ว ค่าเงินเยนที่ถูกกว่ายังช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกมั่งคั่ง และกระตุ้นการใช้จ่ายในทุกสิ่งตั้งแต่กิโมโนไปจนถึงอาหาร จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้นำไปสู่ความต้องการข้าว ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยตัวเลขเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา แตะระดับ 7.02 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้ ความต้องการข้าวลดลงมาระยะหนึ่งเนื่องจากจำนวนประชากรลดลง และพฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไปของชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น พาสต้าและมันฝรั่ง สวนทางกับความต้องการข้าวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งบริโภคข้าวพุ่งสูงขึ้น 31,000 ตันเป็น 51,000 ตัน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES