“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เริ่มดำเนินงานระยะที่ 1 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ระหว่าง รฟม. และ BEM แล้ว ภายหลังจาก รฟม. มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.ค. 67 แจ้งให้ BEM เริ่มงาน (NTP) ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 67
งานระยะที่ 1 ประกอบด้วย งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนตะวันตก และจัดหาขบวนรถ ซึ่งในส่วนของขบวนรถนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะจัดซื้อของบริษัทใด ภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยจะพร้อมเปิดให้บริการส่วนตะวันออกประมาณปลายปี 70 ขณะที่ตลอดทั้งสายคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 73
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก มี 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี โดยสถานีใต้ดิน มีการออกแบบตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ซึ่งลวดลายที่ออกแบบสะท้อนถึงลักษณะสำคัญ ความโดดเด่น หรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ที่สถานีนั้นๆ ตั้งอยู่ โดยการตกแต่งจะอยู่ที่ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร บริเวณผนังสถานี เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้เห็นมากที่สุด ซึ่งตำแหน่งของผนังจะตั้งอยู่ในจุดที่ต้องเดินผ่านขึ้นลงจากชั้นจำหน่ายตั๋วไปชั้นชานชาลา โดยจะเป็นผนังผืนยาวที่สุดในสถานี และไม่มีส่วนใดๆ มาขวางแนวผนัง
ทั้งนี้ สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ พิเศษกว่าสถานีอื่นๆ เนื่องจากมีทางรถไฟอยู่ตรงกลาง และมีชานชาลารับ 2 ฝั่ง ทำให้สถานีนี้มีผนัง 4 แผง ได้นำเสนอภาพศิลปะแบบภาพพิมพ์ (Graphic Art) ที่สะท้อนถึงรูปแบบวัฒนธรรมของไทยด้านต่างๆ แบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ ด้านการแสดงการร่ายรำ การต่อสู้ การแสดงพื้นถิ่นต่างๆ, ด้านดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย, ด้านการละเล่นพื้นบ้านของไทย และด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยก่อน
ส่วนสถานี รฟม. ตั้งอยู่ด้านหน้า รฟม. จึงนำเสนอตัวตนขององค์กร ที่รับผิดชอบดำเนินงานรถไฟฟ้าของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และพัฒนาเมือง จึงได้สื่อถึงการดำเนินงานของ รฟม. ผ่านภาพเครือข่ายของรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทาง, สถานีวัดพระราม 9 ออกแบบตกแต่งสถานีให้มีการสื่อสารสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อ้างอิงถึงวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก แนวทางตามพระราชดำริ “บวร” และคติธรรมจากพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” โดยจะถูกแสดงออกมาผ่านการออกแบบตกแต่งที่เรียบง่าย
สถานีรามคำแหง 12 ออกแบบในธีม “สีสันแห่งวิถีชีวิต” เพราะบริเวณรอบๆ ที่ตั้งสถานีเป็นย่านการค้า มีร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัยหนาแน่น มีวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ในเมือง กระตือรือร้น มีสีสัน สนุกสนาน มีชีวิตชีวาตลอดเวลา, สถานี ม.รามคำแหง ออกแบบสื่อถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยตรง ใช้อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมาประกอบในลวดลาย อาทิ ภาพองค์พ่อขุนรามคำแหง, ภาพศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และลายสือไท, ต้นและดอกสุพรรณิการ์ ภาพอาคารศาลาไทย และเรือสุพรรณหงส์
สถานี กกท. ตั้งอยู่หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย จึงใช้ท่าทางลักษณะของนักกีฬา และกีฬาประเภทต่างๆ เน้นความเคลื่อนไหวของเส้นสาย และลวดลาย รวมทั้งใช้สีสันเพิ่มความโดดเด่นของผนังทั้งผืนให้เป็นที่สะดุดตาต่อผู้โดยสาร, สถานีรามคำแหง 40 เน้นความสำคัญของสายน้ำที่ผูกพันกับคนในท้องที่ นำเสนอเป็นงานกราฟิกสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของสายน้ำ และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต, สถานีแยกลำสาลี จุดนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญทั้งทางน้ำ บก และราง จึงแสดงออกถึงความเชื่อมโยงผ่านการออกแบบกราฟิก
สถานีศรีบูรพา ให้ชุมชนโดยรอบสถานีมีส่วนร่วมออกแบบ ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนในโรงเรียนบริเวณสถานีสร้างสรรค์งานศิลปะ และนำมาจัดทำเป็นผนังตกแต่งพิเศษ ทำให้เกิดความร่วมมือ และความภาคภูมิใจของชุมชนเมื่อเข้าใช้บริการ และสถานีคลองบ้านม้า เนื่องจากที่ตั้งสถานีคือเขตสะพานสูง สื่อถึงการคมนาคมทางน้ำ สะพานที่ยกสูงขณะเดียวกันพรายน้ำที่เกิดขึ้นในคลองแสนแสบ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน คล้ายกับตราสัญลักษณ์ รฟม. จึงได้นำรูปทรงของทั้งสองมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของการคมนาคมทางน้ำ และทางราง.
*ห้ามคัดลอกเนื้อหาข่าว-ภาพ และนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต