จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิปของผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง ซึ่งเป็นครูสาว ถ่ายคลิปเปิดกรุรื้อสมบัติฝ่ายกิจการโรงเรียน พบว่ามีโทรศัพท์มือถือของเด็กนักเรียนซึ่งถูกยึดมาตั้งแต่สมัยปี 2555 หรือประมาณ 9 ปีที่แล้วหลายเครื่อง เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายทำนองว่า

บางโรงเรียนมีกฎระเบียบห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าโรงเรียน หากนำมาก็จะโดนยึดและให้มารับได้ตอนปิดเทอม หรือประมาณ 3 เดือนที่ถูกยึดเอาไป เรื่องนี้มีครูจากโรงเรียนใหญ่มาก ๆ แห่งหนึ่งใน กทม. โทรศัพท์มาปรึกษาแล้วเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นโซเชียลยังไม่เข้าถึงได้ขนาดนี้ สำหรับเหตุที่นักเรียนพกโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเพราะทางผู้ปกครอง ซื้อให้พกติดตัวไว้ใช้ ยิ่งใน กทม.การจราจรติดขัด เวลามารับ-ส่ง ก็ไม่อยากให้บุตรหลานเสี่ยงออกมารอด้านนอกโรงเรียน เมื่อผู้ปกครองใกล้ถึงโรงเรียนก็จะโทรศัพท์เรียกบุตรหลานมาขึ้นรถที่หน้าโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย

นายโกศลวัฒน์ ยังระบุทำนองว่า แม้ระเบียบของโรงเรียนที่คุมเข้ม ทางผู้ปกครองตกลงด้วย แต่ระเบียบนั้นไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมายอาญา โดยเฉพาะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจครูในการไปยึดทรัพย์ของเด็ก แล้วไม่คืนให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนยังทำมาหากินไม่ได้ เงินที่ซื้อโทรศัพท์มาเป็นของผู้ปกครอง ดังนั้นหากผู้ปกครองไปแจ้งความ ว่าฝ่สายครูยักยอกทรัพย์-ลักทรัพย์แล้วแต่พฤติการณ์ ก็จะกลายเป็นคดีอาญาได้ทันที จึงขอแนะนำให้รีบคืนโทรศัพท์นั้นโดยเร็ว การยึดไว้ยาวนานจนปิดเทอมอาจมีปัญหาใหญ่ตามมา บางโรงเรียนก็มีทางออกคือพอเด็กมาโรงเรียนแล้วให้ทุกคนเอาโทรศัพท์มือถือมาใส่ไว้ในตะกร้าหน้าห้องเรียน เลิกเรียนแล้วจึงค่อยมาเอาโทรศัพท์คืนไปเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กใช้โทรศัพท์ในระหว่างเรียน

นายโกศลวัฒน์ ระบุอีกว่า ปัญหาคือ กฎหมายใหญ่กว่าระเบียบของโรงเรียน ระเบียบของบริษัท ไม่ได้ใหญ่กว่ากฎหมาย เพราะระเบียบของโรงเรียนหรือระเบียบของบริษัทคงใช้ได้เฉพาะในบริษัท ในโรงเรียน เท่านั้น แต่กฎหมายเป็นระเบียบของสังคมโดยรวมเป็นกติกาของสังคม โดยรวมซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย คุณอ้างทำตามระเบียบถ้าผิดกฎหมาย ถูกแจ้งความดำเนินคดี ระเบียบช่วยคุณไม่ได้ อาจติดคุกเพราะระเบียบของคุณเอง มันขัดกฎหมายมาเยอะแล้ว ผมไปติดต่องานหลายที่ชอบอ้างระเบียบ ที่มันฝ่าฝืนกฎหมายเพราะเอามาใช้กับคนภายนอกไม่ได้นะครับ ระวังจะถูกแจ้งความดำเนินคดี

ต่อไปไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือบริษัทห้างร้าน ระเบียบมีไว้ใช้กับคนในโรงเรียนหรือในบริษัท แต่คงใช้กับคนภายนอกกับสังคมโดยรวมไม่ได้ สังคมโดยรวมต้องใช้กฎหมายเท่านั้น สำหรับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.