จากกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการรัฐสภา เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับข้าราชการรัฐสภา บริเวณประดิพัทธ์ซอย 6 ถนนประดิพัทธ์ โดยการก่อสร้างนั้นจะดำเนินการบนที่ดินของกรมธนารักษ์ พื้นที่ประมาณ 9-1-36 ไร่ หรือ 14,944 ตารางเมตร โครงการก่อสร้างที่พักอาศัยรวมความสูง 30 ชั้น 545 ห้อง จำนวน 3 อาคาร เบื้องต้นจะเริ่มก่อสร้างโครงการเฟส 1 เนื้อที่ 4-3-58 ไร่ หรือ 7,839 ตารางเมตร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.ดรัลรัตน์ เงินวัฒนะ ผู้ประสานงานชุมชนและบ้านระยะประชิด ซอยประดิพัทธ์ 6 กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีการก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนดั้งเดิม และยังเป็นพื้นที่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงเรียน ชุมชนผู้สูงอายุ อีกทั้งบริเวณถนนประดิพัทธ์ยังมีปัญหาการจราจรแออัด หากดำเนินการก่อสร้างอาคารที่พักขนาดใหญ่ จะส่งผลให้มีปริมาณรถเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 500 คัน นอกจากนี้ การก่อสร้างยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และมลพิษทางเสียง ระหว่างก่อสร้างที่ประชาชนจะต้องเผชิญเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี อีกทั้งความร้อนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่เนื่องจากการติดตั้งเครื่องปรับอากาศของโครงการที่จะมีมากกว่า 500 เครื่องเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งในพื้นที่ยังมีผู้สูงอายุอาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการก่อสร้างโครงการฯ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ในพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มต้องอยู่บ้านตลอดเวลา
น.ส.ดรัลรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พบว่าโครงการฯ ยังไม่เคยทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร แต่เป็นเพียงการทำประชาสัมพันธ์โครงการกับประชาชนเท่านั้น กรณีดังกล่าวส่อให้เห็นถึงการไม่โปร่งใสของโครงการ ประชาชนในพื้นที่กำลังถูกละเมิดสิทธิ จึงได้รวมกันแสดงจุดยืนเพื่อต่อต้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่ถนนประดิพัทธ์ เพราะโครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการรัฐสภานั้นมาจากภาษีของประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นที่ยังสร้างความสงสัยและกังวลให้แก่ประชาชน “กระบวนการทำประชาพิจารณ์ชุมชน” ยังไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว บริษัทที่ปรึกษาไม่เคยเรียกชุมชนประชุมรับฟังรายละเอียดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่โครงการเริ่มเข้าทุบตึกเคลียร์พื้นที่ไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 เป็นระยะเวลาเกือบ 10 เดือนแล้ว ที่ชุมชนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดการก่อสร้างอย่างชัดเจน
“ทางชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร กำลังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของภาครัฐ และไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนระหว่างการก่อสร้างโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นนานกว่า 3-4 ปี ระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น แต่เรากังวลไปถึงปัญหาระยะยาวที่จะตามมาหลังจากก่อสร้างเฟส 1 เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามาเช่าต่อ ปัญหาการจราจรที่จะหนาแน่นมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ โดยชุมชนเห็นว่าภาครัฐควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาทำเป็นสวนสาธารณะ เพราะจุดที่จะใช้ก่อสร้างโครงการนับว่าเป็นปอดของประชาชนในย่านประดิพัทธ์ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนในย่านประดิพัทธ์ สะพานควาย อารีย์ อินทามระ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเห็นว่าควรพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวมากกว่าการสร้างอาคารที่พักอาศัย เพราะในย่านนี้มีพื้นที่สีเขียว และมีสวนสาธารณะจำนวนน้อยมากอยู่แล้ว” น.ส.ดรัลรัตน์ กล่าว
นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการรัฐสภามีประเด็นที่น่าสงสัย โดยเฉพาะการขออนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีการขอยื่นก่อนที่งบประมาณก่อสร้างโครงการจะถูกอนุมัติ เพราะตามขั้นตอนแล้วการศึกษาผลกระทบ EIA จะต้องดำเนินการและทำประชาพิจารณ์กับประชาชนไม่ต่ำกว่า 1-2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมามีเพียงการส่ง “เอกสารประชาสัมพันธ์” ไปให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น โดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทำ EIA อย่างแน่นอน โดยตนเห็นว่าการเข้าสู่การพิจารณา EIA ในครั้งนี้ เป็นการสอดไส้ EIA มากับเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ นอกจากนี้ยังพบว่างบประมาณก่อสร้างยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่มีการทำ EIA ไปแล้ว ซึ่งกระบวนดำเนินงานนั้นมีความคาดเคลื่อนจากขั้นตอนการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อย่างมาก
อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ตัวแทนชุมชนได้เข้าชี้แจงข้อกังวลต่อ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (คชก.) ไปแล้วนั้น ในที่ประชุมแจ้งว่า จะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ดำเนินการตามข้อกังวลและชี้แจ้งกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ หากชุมชนมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ส่งกลับมาที่ คชก. อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ส่งหนังสือกล่าวโทษไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษาต่อไป.