จากกรณีที่นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมลงแขกกำจัดปลาหมอคางดํา ในพื้นที่บริเวณคูครองสาขา ท้องที่หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สามารถจับปลาหมอคางดำได้กว่า 2 ตัน อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดยักษ์ใหญ่ที่กรมประมงใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท แต่หลังจากสร้างแล้วเสร็จก็ทิ้งร้างไม่มีการเข้าไปดำเนินการใด ๆ ให้เกิดประโยชน์ทั้งสิ้นถือว่าเป็นการใช้งบประมาณแบบทิ้งเปล่าศูนย์เปล่าไร้ประโยชน์ ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตลุ่มน้ำปากพนัง ได้นำสื่อมวลชนลงตรวจสอบพื้นที่โครงการบ่อบำบัดน้ำประมงน้ำเค็ม บ้านบ่อคนธี หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดยักษ์ใหญ่ครบวงจรมี เทคโนโลยีพร้อมวัสดุอุปกรณ์ ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พร้อมอาคารมาตรฐานหลายจุด ซึ่งเป็นโครงการของกรมประมงพบว่า เมื่อมีการสร้างแล้วเสร็จกลับถูกทิ้งร้างไม่ใช้ ให้เกิด ประโยชน์ใด ๆ ในปัจจุบันพบว่าสายไฟฟ้าหม้อแปลงขนาดใหญ่อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆได้ถูกขโมยหายไปเกลี้ยงมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านที่สำคัญภายในโครงการกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ จำนวน มหาศาล ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการแพร่ขยายพันธุ์ออกไปสู่พื้นที่รอบนอกในเขตลุ่มน้ำปากพนังอื่น ๆ
นายไพโรจน์ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน กรมประมงได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำอื่น ๆ อย่างจริงจังโดยมีการทุ่มงบประมาณลงมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำเค็ม เพื่อความสะดวกของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหรือสัตว์น้ำ ซึ่งในการก่อสร้างโครงการนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม จนมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือขอความเป็นธรรมมาโดยตลอดแต่ไม่ได้รับการดูแลจากกรมประมง และประชาชนจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช จนเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาทางศาลปกครองได้ พิพากษาตัดสินให้เกษตรกร ผู้ฟ้องคดีชนะคดี ศาลปกครองสั่งให้กรมประมงคืนพื้นที่ให้ชาวบ้านภายใน 180 วัน ทางกรมประมงก็นิ่งเฉยผ่านมาเป็นเวลา 3 ปี ทางเกษตรกรผู้ร้องเคยเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และมีการนำเสนอข่าวนี้ออกไปยังคึกโครมกว้างขวาง แต่จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปี เกษตรกรผู้ร้องก็ยังไม่ได้คืนพื้นที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครอง
นายไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ นอกจากบริเวณบ้านบ่อคนธีหมู่ 4 ต.เกาะเพชร แล้วยังมีที่ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และที่ ต.ท่าพระยา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณในการก่อสร้างแห่งละ กว่า 400 ล้านบาท รวม 3 โครงการ 1,400 ล้านบาทแต่ โครงการทั้ง 3 จุดในพื้นที่ 2 อำเภอ กลับถูกทิ้งร้างสูญเปล่าไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนแม้แต่น้อย ซึ่งการใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ในลักษณะเช่นนี้ราวกับว่าประเทศไทย ร่ำรวยมหาศาล มันสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจตกต่ำประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ
“ ที่สำคัญเป็นเหมือนกรมประมงใช้งบ 1,400 ล้านบาท มาลงทุนใน 3 โครงการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำไปโดยปริยาย”นายไพโรจน์ กล่าวและว่า ถึงวันนี้เรื่องราวถูกสื่อมวลชนเปิดโปงออกมาแล้ว ตนจึงขอเรียกร้องไปยังกรมประมงให้รีบเร่งถ่ายโอน โครงการทั้ง 3 จุด 2 อำเภอ ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมชลประทานเชื่อว่าทางกรมชลประทานจะสามารถเข้ามา พัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูระบบนิเวศ ในโครงการรวมทั้งแหล่งคูคลอง ต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และสัตว์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และขอเรียกร้องให้ทางกรมประมงลงไปเยียวยาช่วยเหลือชดเชย ให้กับ เกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบเดือดร้อน ตาม คำสั่งศาลปกครอง โดยเร่งด่วน