สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ว่ากรุงโตเกียว-เมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่นครองอันดับ 1 ของคลัสเตอร์นวัตกรรมของโลกในปีนี้ ตามมาด้วยเมืองเซินเจิ้น, ฮ่องกง และกว่างโจว และกรุงปักกิ่งของประเทศจีน แซงหน้ากรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มาอยู่ที่อันดับ 4
จีนครองตำแหน่ง การมีคลัสเตอร์นวัตกรรมอยู่ใน 100 อันดับแรก มากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ 26 อันดับซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 อันดับ ตามด้วยสหรัฐ ซึ่งมี 20 คลัสเตอร์
ดัชนีนวัตกรรมโลกของไวโปอ้างอิงจากการยื่นจดสิทธิบัตรและการตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อระบุจำนวนกิจกรรมการพัฒนานวัตกรรมชั้นนำของโลกในพื้นที่แห่งนั้น
ขณะที่คลัสเตอร์ 2 อันดับแรกรวมกันคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของคำร้องขอจดสิทธิบัตรทั่วโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดย บริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริก ของญี่ปุ่น และบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากจีน
แม้ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงใน 10 อันดับแรก แต่คลัสเตอร์นวัตกรรมในประเทศรายได้ปานกลางกลับมีการเติบโตแข็งแกร่งที่สุด นำโดยเมืองเหอเฝย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และเมืองเจิ้งโจว ทางตอนกลางของจีน ที่ร้อยละ 23 และ 19 ขณะที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ อยู่ที่ร้อยละ 11 ตามด้วยเมืองเจนไน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย และเมืองอิสตันบูล เมืองใหญ่ที่สุดของตุรกี เท่ากันที่ร้อยละ 8
ตรงข้ามกับคลัสเตอร์ในอเมริกาเหนือและยุโรปซึ่งตกอันดับในปีนี้ ขณะที่เมืองเซาเปาลู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล อยู่ที่อันดับ 73 และเป็นอันดับสูงสุดของภูมิภาคลาตินอเมริกา ส่วนกรุงไคโรอยู่ในอันดับที่ 95 โดยเป็นครั้งแรกที่ติดอันดับ และเป็นเพียงประเทศเดียวในแอฟริกาที่ใน 100 อันดับ
ด้านสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 33 และกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 93 และเป็นครั้งแรกที่ติด 100 อันดับแรก ส่วนไทยไม่อยู่ใน 100 อันดับ
นายดาเรน ถัง ผู้อำนวยการใหญ่ไวโป แสดงความยินดีที่คลัสเตอร์เหล่านี้ไม่จำกัดอยู่แค่ศูนย์กลางของประเทศ แต่ยังรวมไปถึงศูนย์กลางทางนวัตกรรมที่กำลังเกิดใหม่
รองจากจีนและสหรัฐ เยอรมนีมีคลัสเตอร์มากถึง 8 แห่ง นำโดยเมืองมิวนิก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในส่วนของเกาหลีใต้และอินเดียมีคลัสเตอร์ 4 แห่ง และฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และแคนาดา มีคลัสเตอร์ละ 3 แห่ง ซึ่งล้วนแต่ติด 100 อันดับแรก
คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์เข้มข้นที่สุดหากพิจารณาตามขนาดประชากร ได้แก่ เมืองเคมบริดจ์ ของสหราชอาณาจักร ตามด้วยเมืองซานโฮเซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกของสหรัฐ และเมืองไอนด์โฮเฟน ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์
สำหรับ 5 อันดับแรกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์, เมืองโจฮันเนสเบิร์กและกรุงเคปทาวน์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้, กรุงตูนิส เมืองหลวงของประเทศตูนิเซีย และเมืองอเล็กซานเดรีย ทางตอนเหนือของประเทศอียิปต์ ซึ่งคลัสเตอร์จำนวนมากในแอฟริกา ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการยื่นจดสิทธิบัตร
15 อันดับแรกของคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2567 ได้แก่
- กรุงโตเกียว-โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
- เมืองเซินเจิ้น-ฮ่องกง-กวางโจว ประเทศจีน
- กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
- กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
- เมืองเซี่ยงไฮ้-ซูโจว ประเทศจีน
- เมืองซานโฮเซ-ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
- เมืองโอซากา-โกเบ-เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
- เมืองบอสตัน-เคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา
- เมืองหนานจิง ประเทศจีน
- เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา
- นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
- กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
- เมืองหางโจว ประเทศจีน
- เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
เครดิตภาพ : AFP