ในสังคมยุคการสื่อสารที่ถูกโซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาท จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนยุคโลกดิจิทัลไปแล้ว บล็อกเกอร์ผู้เป็นเจ้าของเพจและเรื่องราวที่นำเสนอนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกของคนรับสารอย่างมาก และไม่ง่ายที่หลายเพจจะมีกระแส ความดัง สร้างความประทับใจ เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์จากลูกเพจได้จำนวนมาก จนขยับการเป็นพื้นที่ชุมชน ที่เป็นได้มากกว่า การสื่อสารในสิ่งที่เจ้าของเพจอยากถ่ายทอด นั่นคือ การร่วมแบ่งปันสิ่งดี ๆ ควบคู่ไปกับการได้ใช้พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์และมิตรภาพที่ดีต่อกัน

บนเส้นทางการเป็นบล็อกเกอร์เจ้าของเพจดังอย่าง ลฎาภา เบลี่ย์ คุณอุ่น เจ้าของ เพจตามติดชีวิตแม่บ้านแขก และ พันธิตรา รังสิวัฒนศักดิ์ หรือ คุณกิ๊ฟ เจ้าของเพจเรื่องเล่าล้านกิโลเมตร A Million Miles Story มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะมีผู้คนชื่นชอบและติดตามความเคลื่อนไหวทุกอย่างบนเพจมากถึง 3-4 แสนคน

ลฎาภา เบลี่ย์ คุณอุ่น เจ้าของ เพจตามติดชีวิตแม่บ้านแขก เล่าว่า เดิมทีมีอาชีพเป็น แอร์โฮสเตสสายการบินกาตาร์ อาศัยอยู่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ หลังลาออกจากงาน แต่งงาน เป็นแม่บ้านดูแลลูก ในสมัยเป็นแอร์โฮสเตสเขียนเล่าเรื่องประสบการณ์ตัวเองในเฟซบุ๊กตลอด จนเพื่อนที่อ่านบอกเขียนเรื่องสนุกและแนะนำให้ลองเปิดเพจดู ช่วงแรกเลี้ยงลูกคิดเปิดเพจเพื่อลงภาพ เขียนเรื่องราวลูก พอเริ่มมีเวลาอยากเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนเพจ ฝ่ายสามีบอกว่า ไม่อยากให้เอาเพจที่เป็นชื่อลูก มาเปิดเผยให้สังคมรู้ ดูไม่เป็นส่วนตัวกับลูก เลยเปลี่ยนชื่อเพจเป็น “ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก” เพราะช่วงนั้นเป็นแม่บ้านใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเนื้อหาให้เพจเป็นเรื่องปูมการเดินทางชีวิต ความสนใจ ประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อทำเพจขึ้นมา ทุกอย่างไปได้ด้วยของตัวเอง เพื่อนอ่านแล้วชอบ เริ่มนำไปแชร์ และมีคนติดตาม

คุณอุ่นเล่าถึงจุดเด่นของการทำเพจว่า “ทำเพจ เหมือนชีวิตปกติ บางจุดก็ไร้สาระ บางจุดก็มีสาระขึ้นมา อยากให้ทุกคนเห็นที่เป็นตัวเราจริง ๆ และเรื่องราวความเป็นไป ณ ขณะนั้น ช่วงห้าปีที่แล้ว ดีใจที่พอสังคมเริ่มใหญ่ขึ้น เริ่มเห็นมุมมองหลายอย่าง ไม่ใช่เราให้ประโยชน์เขาอย่างเดียว คนที่มาคอมเมนต์หลายครั้ง เขาให้ประโยชน์เรา ทุกวันทำให้เราเรียนรู้จากมุมมองนั้น มีคนปรึกษาทุกวัน วันละ 3-5 ท่าน มีทุกอย่าง บางท่านสนทนามา 2-3 ปี ทุกครั้งจะมาขอกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นคนทุกระดับที่ได้คุย หลายอย่างประทับใจทุกเรื่องราว การฟังทุก ๆ ปัญหา ไม่รู้สึกเครียด อุ่นมองว่า ปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาเรา ถ้าฟังเรื่องด้วยใจเป็นกลาง เราช่วยใครสักคนได้ คือ แชร์เรื่องราวกันได้ มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คือการปรับมุมมอง ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทุกอย่าง เห็นต่างกันได้ แต่ต้องมีใจที่เคารพกัน มีใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและมูฟออนพอ

การทำเพจควรมีประโยชน์บ้าง ต่อให้ ให้ประโยชน์นั้นมีแค่ห้าเปอร์เซ็นต์ ควรเป็นประโยชน์แก่สังคมบ้าง อุ่นเชื่อว่า “ยู อาร์ ฮู ยู โฟว์โลว์” อย่างเดียว ถ้าไม่ชอบอ่านอะไรยาว ๆ เพจอุ่นจะไม่ถูกจริตคน ๆ นั้นเลย บางที  เราอาจเขียนเชิงตำหนิเขา เขียนว่าไม่ถูก แต่อุ่นไม่อยากให้สังคมมองว่า เราเขียนเชิงตำหนิเราก็จะถูกฟ้องร้องอย่างเดียว เมื่อไหร่ที่ยืนอยู่บนความเสมอภาค เราควรอยู่ในสังคมที่ควรวิจารณ์กันได้ อีกฝั่งหนึ่งควรจะรับฟังการวิจารณ์กันได้”

พันธิตรา รังสิวัฒนศักดิ์ หรือคุณกิ๊ฟ เจ้าของเพจเรื่องเล่าล้านกิโลเมตร A Million Miles Story เล่าว่า “ทำเพจนี้มาได้ประมาณ 6 ปี    

แรกเริ่มตอนแรกตั้งใจทำเพจท่องเที่ยว เพราะชอบท่องเที่ยว ตอนเป็น ออแพร์ โครงการแลกเปลี่ยนพี่เลี้ยงเด็ก ที่อะแลสกา สหรัฐอเมริกา ทำได้ 1 ปีรู้สึกว่า ไม่รู้จะเขียนอะไรเลยปิดเพจ ประมาณ 2-3 ปี พอมาอยู่เยอรมนี ประมาณ 1 ปี เปิดเพจเล่า
เรื่องราวที่เป็นของตัวเอง เรื่องท่องเที่ยว เรื่องแฟน ความคิดเห็น ทำเพจให้เป็นตัวของตัวเอง การที่มีคนติดตามที่มากขึ้น ชีวิตเหมือนเดิม กิ๊ฟเป็นตัวกิ๊ฟเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่แตกต่างจากเดิมตรงที่ปกติเรามีโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่เงียบ ๆ พอทำเพจแล้ว ต้องรับมือกับความคิดเห็น ที่คนอื่นคิดแตกต่างมากขึ้น แรก ๆ ไม่ชินเรา เจอคนติชมทุกวันเยอะมากขึ้น จนรู้สึกว่ามากเกินไป อันนี้คือ รู้สึกว่าแตกต่างจากเมื่อก่อนมากไป ตอนนี้ชินแล้วว่า คนเรามีหลากหลายรูปแบบ บางคนจู่ ๆ มาด่าเราหยาบคาย บางคนก็รัก บางคนก็เกลียด เมื่อก่อนตอนทำเพจใหม่ ๆ เราไม่รู้วิธีการรับมือ บางทีเราอาจสวนแรงไป คนสวนด่าเราแรงกลับ เราก็รู้สึกแย่เหมือนกัน แต่หลัง ๆ มีวิธีการรับมือที่ปรับเปลี่ยน แอดมินเพจ กรองความคิดเห็นให้ก่อน อันไหนหลุด ๆ มา ถ้าหยาบคายมาเลยเราก็บล็อก ถ้ากึ่ง ๆ หรือเราว่าง เราอยากตอบกลับ เราก็ตอบกลับบางคน”

ในพื้นที่เพจ เรื่องเล่าล้านกิโลเมตร A Million Miles Story คุณกิ๊ฟบอกว่า “มีคนส่งข้อความมาปรึกษาในเพจเยอะมากทุกเรื่อง เรื่องแฟน เรื่องความมั่นใจ เรื่องความรักครอบครัว เหมือนตัวเองเป็นพี่อ้อย พี่ฉอด เลย เรื่องที่ประทับใจ คือ เวลาที่เขาปรึกษาเรา เขาได้อะไรกลับไป ได้ประโยชน์กลับไป น่าประทับใจ น่าภูมิใจด้วย ที่ตัวกิ๊ฟได้ทำประโยชน์ให้ ส่วนใหญ่คนที่จะได้ประโยชน์คือ เรื่องที่พูดถึงความมั่นใจในตัวเอง ความรักในตัวเอง การเคารพในตัวเอง เพราะหลายคนมีปัญหาในเรื่องพวกนี้ บางคนมาคุย กิ๊ฟให้คำแนะนำว่า ควรจะคิดอย่างไรกับตัวเอง ควรจะรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เราควรตอบกลับคนรอบข้างอย่างไร ทำตัวอย่างไรให้รักตัวเองมากขึ้น หลายคนบอกรู้สึกดีจังเลย ที่ได้มาคุย หรือที่ได้มาแค่ติดตามเรา เขารู้สึกรักตัวเองมากขึ้น และมั่นใจในตัวเองมากขึ้น อันนี้น่าประทับใจมาก ที่ว่าได้ส่งผลทางที่ดีกับคนอื่นขนาดนี้  แค่เราเป็นตัวของตัวเอง ที่เราได้เป็นตัวเอง แค่เราแสดงความคิดเห็นในแบบที่เป็นตัวเอง ทำให้คนอื่นรู้สึกดีกับเขา น่าประทับใจ”

คุณกิ๊ฟยังให้มุมมองเกี่ยวกับโลกโซเชียลมีเดียว่า “มีแง่ดี และไม่ดี เมื่อก่อนบิวตี้ สแตนดาร์ด ของคนอยู่ที่ว่า สวยเป็นไง ไม่สวยเป็นไง มาจากสื่อเหมือนกัน เช่น สื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาว แสดงว่าเราต้องมีผิวขาวถึงจะสวย ปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้นโลกโซเชียล มีหลายเพจเริ่มรณรงค์ เรื่องความหลากหลายทางสีผิว รูปร่าง หน้าตา เพศ กิ๊ฟว่า เป็นดาบสองคม เมื่อก่อนมีแค่ขาว ผอมเท่านั้น ปัจจุบันหลากหลายมากขึ้น ด้วยความเปิดกว้างส่งผลให้คนเข้าใจอะไรมาก ส่งอิทธิพลไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว”

ประสบการณ์ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนี คุณกิ๊ฟสะท้อนว่า “ที่นี่เขาจะมองเรื่องสิทธิส่วนบุคคสำคัญมาก ตอนแรกมาอยู่ไม่เข้าใจ สิทธิส่วนบุคคลเอาง่าย ๆ เด็กบางคน เด็กเขาย้อมผมแดงฟ้าเลย พ่อแม่จะให้สิทธิลูกเต็มที่ ให้ลูกทำในสิ่งที่เขาอยากทำ อย่างน้อยสิทธิส่วนบุคคล สิทธิทางร่างกาย ทางตะวันตกเปิดกว้าง สิทธิในการพูด ที่เยอรมนีค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องนี้  เราจะพูดอะไรก็ได้ เรียกว่า “ฟรี ด้อม ออฟ สปีช” มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและพูด ต่อให้เขามีสิทธิแค่ไหน แต่เขาจะไม่พูดจาแย่ ๆ ใส่กัน เขาไม่ทักกันเรื่องรูปร่างหน้าตา สีผิว รูปร่างภายนอก กิ๊ฟค่อนข้างชอบ เราถกเถียงกันได้เต็มที่ เขาจะรู้อันไหนมีมารยาท หรือเป็นการล้ำเส้นกัน”.