เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงการติดตามมวลน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ ที่คาดว่าจะถึง กทม. ในช่วงวันที่ 2 ก.ย.67 และสถานการณ์น้ำในขณะนี้ ว่า กทม. ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ และน้ำฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ พบว่าแต่ละเขื่อนยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อยู่อีกปริมาณมากกว่าร้อยละ 50 ของความจุสุดสุด ส่วนด้านการติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล อีกทั้ง กทม. ยังมีการเตรียมความพร้อมคันกั้นน้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเพิ่มสูงขึ้นไว้แล้ว 


ส่วนพื้นที่ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือไม่มีคันกั้นน้ำ (จุดฟันหลอ) กทม.ก็มีการเตรียมกระสอบทราย กว่า 1 ล้านใบ พร้อมก่อเป็นกำแพงกันน้ำได้ตลอดเวลา เชื่อว่าสามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


“หากถามว่ากังวลไหม จะตอบว่าไม่กังวลคงไม่ได้ เพราะธรรมชาติเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ตลอด แต่เราก็มีการเตรียมพร้อมไว้ทั้งคน อุปกรณ์ และการปรับปรุงโครงสร้างอื่นเพื่อรองรับแล้ว”


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตาอีกเรื่อง คือปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ เพราะหากเกิดฝนตกในปริมาณมากจนถึง 200 มม. ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้เตรียมมาตรการเพื่อติดตาม เฝ้าระวัง พร้อมวางแผนการปฏิบัติงาน การเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ด้านสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำเคลื่อนที่ ให้พร้อมสำหรับการเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันที่หากเกิดน้ำท่วมขัง 

ส่วนเรื่องที่ต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น คงจะเป็นเรื่องการระบายน้ำในระยะยาว ที่มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่รอยต่อ ทั้งจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งก็มีการหารือร่วมกันอยู่ตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วานนี้ (28 ส.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และ ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่บริเวณเซียงกงพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตยานนาวา เพื่อสำรวจแนวกั้นน้ำและการปรับปรุงประตูระบายน้ำ 

โดยเริ่มต้นสำรวจที่ประตูระบายน้ำบริเวณคลองตาห่วง สิ่งที่ปรับปรุงในโครงการ คือจะย้ายไปสร้างประตูระบายน้ำชิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้จัดการน้ำได้ดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคลองตาห่วงจะดำเนินการดาดท้องคลอง ขุดลอกลงไปให้มีความลึกมากขึ้น ส่วนด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนและแนวกั้นน้ำรั่วซึม ได้มีการปรับปรุงและดำเนินการแล้วเสร็จ จุดไหนที่เปราะบางได้ตั้งเครื่องสูบไว้เตรียมพร้อม


ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ สถานการณ์ตอนนี้น่าจะรับมือได้ แต่ต้องระวังเพราะร่องมรสุมยังคงอยู่ทางภาคเหนือ ทำให้ฝนตกมากที่ จ.น่าน เลยเขื่อนสิริกิติ์ แม้ว่ายังรับน้ำอยู่ที่ประมาณ 70% แต่อัตราการเพิ่มของน้ำค่อนข้างเร็ว ต้องไม่ประมาท ระมัดระวัง แต่ที่เบาใจได้ในตอนนี้ คือเขื่อนภูมิพลยังรับน้ำอยู่ที่ประมาณ 40% และยังมีอีกหลายด่านกว่าจะมาถึง กทม. ด้านน้ำทะเลหนุนก็จะเข้มข้นราวเดือน ต.ค. พร้อมย้ำว่าการรับมือกับน้ำนั้น ทำมาโดยตลอดทั้งปีและทำล่วงหน้า ไม่ได้เพิ่งทำ.