เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SIMR) อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะการแพทย์จีโนมิกส์และ การศึกษาพัฒนาวิธีการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จํากัด
โดยมีรายนามผู้ร่วมลงบันทึกคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คุณณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 แพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 ผู้อํานวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ศาสตราจารย์นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช อาจารย์ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ และดร.ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงษ์ กรรมการบริษัทไบโอโมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย)จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง
สำหรับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการวิจัยเพื่อใช้ในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบูรณาการเทคโนโลยีจีโนม เข้ากับการวิจัยและบริการทางคลินิก เพื่อส่งเสริมให้การแพทย์จีโนมิกส์ และการแพทย์แม่นยำมากขึ้น โดยภายในศูนย์มีการนำเทคโนโลยีการหาลำดับเบสแบบต่างๆมาใช้ในการวินิจฉัย เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างตรงจุด รวมถึงเริ่มนำเทคโนโลยี Oxford Nanopore ที่ให้ข้อมูลลำดับ DNA แบบสายยาวครอบคลุมการกลายพันธุ์ที่เทคโนโลยีดั้งเดิมไม่สามารถตรวจสอบได้มาตรวจหาการกลายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยย่นระยะเวลาที่แพทย์และผู้ป่วย จะได้รับผลการวิจัย
ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี Oxford Nanopore มาใช้ทางคลินิก โดยใช้ตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็งเพื่อการวินิจฉัย การจัดกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งสมอง เพื่อการรักษา การระบุรูปแบบยีนที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาต่างๆ ที่นิยมใช้ในประเทศ โดยมีทีมนักวิจัยจากหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อรองรับข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี Oxford Nanopore มาตอบโจทย์การตรวจดังกล่าว โดยมุ่งหวังที่จะนำไปสู่การยกระดับการรักษาการดูแลผู้ป่วย และการป้องกันเฉพาะบุคคลได้อย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-Read Lab ภายใต้หน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ ยังจัดเตรียมความพร้อมเพื่ออบรมการใช้เทคโนโลยี Oxford Nanopore ให้กับนักศึกษาแพทย์ อาจารย์ รวมถึงนักวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการตรวจวิเคราะห์ยีนเฉพาะบุคคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีความผิดปกติ และลักษณะของโรคอีกจำนวนมาก ที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถหาคำตอบได้ เราจึงต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว และความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย N Health จึงผสานความร่วมมือกับศิริราช ในการพัฒนาทักษะการแพทย์จีโนมิกส์ และวิธีการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ใช้เทคโนโลยี Long-Read Sequencing เพื่อส่งเสริม และพัฒนาการแพทย์แบบองค์รวม ทั้งในด้านการบริหารทรัพยากรเครื่องมือ อุปกรณ์ ทางการแพทย์
รวมถึงการส่งเสริมบุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรู้ ความเชี่ยวชาญ สามารถนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตลอดจนผลงานวิจัย หรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ
ทั้งนี้ภายในงานยังมีบรรยายพิเศษเรื่อง “การตรวจตัวบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการทํานายอาการตื่น แพ้ยา (Pharmacogenomics (PGx) for HLA-B)” ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ คุณรชตวรรษ บุญมาเลิศ และบรรยายพิเศษ โดย Oxford Nanopore