แต่เดิมมีการให้ความรู้ในเรื่อง Business Connection เครือข่ายธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทักษะการเจรจาต่อรอง สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ กฎระเบียบทางการค้า และระบบภาษีข้ามแดน แต่ในปัจจุบันความรู้เหล่านั้นไม่เพียงพอ เพราะกติกาการค้าการลงทุนในโลกเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน BOI จึงเพิ่มความรู้ใหม่ “เรื่องความยั่งยืน” ซึ่งเป็นกติกาโลกที่กำลังมาแรง ไปลงทุนที่ไหน เขาจะถามนักลงทุนไทยว่าบริษัทของคุณเป็นบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ บริษัทของคุณมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับใด บริษัทของคุณทำ CSR และ ESG แบบไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อย บริษัทของคุณใส่ใจ SDG ข้อใด บริษัทของคุณมีรายงานความยั่งยืนให้อ่านหรือไม่ ถ้าเราเตรียมคำตอบ และเรื่องราวดี ๆ ที่เราทำเกี่ยวกับความยั่งยืน การเจรจาธุรกิจจะราบรื่นรวดเร็วและอาจจะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ด้วย เพราะธุรกิจที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมจะไม่ก่อปัญหา ในทางกลับกันจะช่วยพัฒนาความยั่งยืนของประเทศนั้น ๆ ด้วย
ในทางกลับกัน นักลงทุนไทยก็ควรเตรียมคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนไปถามเขาด้วย เช่น ประเทศคุณมีพลังงานสะอาดหรือไม่ มีอาคารสำนักงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่อนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม มีคาร์บอนตํ่า หรือชดเชยจนคาร์บอนเป็นศูนย์หรือไม่ มีการส่งเสริมอะไรบ้างสำหรับบริษัทรักษ์โลก มีเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า หรือมีกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องภาษีคาร์บอนอย่างไร คุณมีแรงงาน และบุคลากรที่มีความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน มีความรู้เรื่อง SDG หรือไม่
จากห้องเรียน BOI นี้ ผมรู้สึกได้ว่านักลงทุนไทยสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีคำถามดี ๆ ที่คุยกันสนุกสนานมีสาระ และยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เขาเจอให้เพื่อน ๆ ฟัง นักธุรกิจที่เดินทางค้าขายลงทุนทั่วโลกเหล่านี้เขารู้เลยว่า กติกาใหม่ของการค้าโลก จะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และเราต้องเตรียมตัว
เริ่มจาก Mindset ของการดำเนินธุรกิจที่มีหัวใจรับผิดชอบต่อสังคม มี Skillset ที่ได้ลงมือทำจริง และมีเรื่องราวและผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และสุดท้ายมี Toolset ต่าง ๆ ที่ช่วยอธิบายเรื่องราวของความยั่งยืน SDG ในมาตรวัดของนานาชาติ
ถ้าทำเอกสารแนะนำองค์กรสั้น ๆ เรื่องความยั่งยืนไว้จะดีมาก
นักธุรกิจไทยมีสิ่งนี้ใน DNA ไม่แพ้ใครในโลก เพราะเขาดำเนินธุรกิจด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.