กรณีผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ งบประมาณ 545 ล้านบาท 8 โครงการใหญ่ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย “ปัญหา 7 ชั่วโคตร” ที่เกิดปัญหาผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากก่อสร้างไม่เสร็จ แม้แต่โครงการเดียว ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน การตรวจสอบพบว่าระหว่างจะมีการทิ้งงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง-กรมบัญชีกลาง ยังได้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินแอดวานซ์ 15% และเงินค่างวดงาน ที่ชาวบ้านสงสัยว่าเป็นการเบิกจ่ายที่เกินจริงเนื่องจากบางโครงการมีเพียงการนำวัสดุอุปกรณ์ ก้อนหินมาเตรียมกองไว้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ มีการเบิกจ่ายไปกว่า 80 ล้านบาท จากงบประมาณ 148 ล้านบาท พบเพียงการขุดท่อ ไม่มีการวางเชื่อมท่อหรือแม้แต่จะต้องมีอาคารชลศาสตร์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างทำให้ชาวบ้านยังสงสัยว่าการอนุมัติเงินนั้นคุ้มค่ากับการที่ได้ทำงานจริงหรือไม่ แม้กรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญา มีการประกาศเวียนห้างห้ามไม่ให้รับงานจากกรมโยธาฯ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับพิจารณาเป็นคดีพิเศษ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 ที่ อาคารรัฐสภา ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุมคณะกรรมาธิการในหลายวาระ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้เชิญ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เข้ามาชี้แจง ซึ่งก็ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม เมื่อถึงวาระอื่นๆ โดยได้มีการยกประเด็นปัญหาการตรวจสอบแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือที่คนกาฬสินธุ์ประฌามว่าเป็น “โครงการ 7 ชั่วโคตร” ซึ่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ได้นำประเด็นนี้ สอบถามผู้แทนกรมบัญชีกลางผ่านประธาน กมธ. ที่ได้ถามเพื่อความเข้าในใจหลักการทำงานเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต เกี่ยวกับกรณีการยกเลิกสัญญาระหว่างเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้น ปรากฏผู้แทนกรมบัญชีกลาง ได้ยื่นยันว่า ตามหลักการทั่วไปหากผู้รับจ้างถูกหน่วยงานภาครัฐยกเลิกสัญญาและมีการประกาศเวียนห้างจะมีผลให้ ไม่สามารถเข้ารับงานกับหน่วยงาน กรม กระทรวง นั้นๆ ได้ จากนั้น ที่ปรึกษาจึงได้แสดงเอกสารขึ้นจอที่ประชุม เป็นหนังสือชี้แจงของ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยเป็นหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0717/19441 ลงวันที่ 3 ต.ค. 67 อ้างถึงหนังสือคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0017.06/5189 ลงวันที่ 9 ก.ค. 67 เป็นเอกสารชี้แจงการตรวจสอบ โดยได้นำตารางที่มีการชี้แจงเป็นประเด็นสำคัญว่า มีพฤติกรรมอาจกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง กรณีปัญหา 7 ชั่วโคตร เนื่องจากพบว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการประกาศให้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ เป็น 2 หจก.เดียวกัน เป็นผู้ชนะการประมูลงานในโครงการ 7 ชั่วโคตรอีกครั้ง ที่ได้สร้างความฮือฮาในที่ประชุมคณะ กมธ.
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กมธ. กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจและแปลกใจ ทั้งที่มีการตรวจสอบมีการนำเสนอข่าวดังทั่วประเทศ เกี่ยวกับโครงการ 7 ชั่วโคตร เป็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยตรง เนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่มีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐกิจจังหวัดกาฬสินธุ์ เสียหายเป็นภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ขณะที่เป็นประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณฯ ให้ความสนใจ หยิบประเด็นนี้มาตรวจสอบ เพราะเป็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและทำให้งบประมาณแผ่นดินภาษีได้รับความเสียหาย แต่เมื่อได้รับเอกสารชี้แจงจาก กรมโยธาฯ เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะ 2 หจก. ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ทิ้งงานและถูกกรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญา กลับถูกระบุในเอกสารเป็นผู้ชนะการประมูล ในกรณีนี้ต้องขอคำชี้แจงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะคำตอบที่ได้ตามหลักการเบื้องต้นเพื่อปกป้องงบประมาณแผ่นดิน กรมบัญชีกลาง ก็ยืนยันว่า เมื่อ หจก. ถูกยกเลิกสัญญา ขึ้นแบล็กลิสต์ จะไม่สามารถประมูลงานหรือรับงานจากหน่วยงานนั้นได้เลย ภายหลังจากรับฟังปัญหานี้ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ขอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหนังสือถึง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อรับฟังคำชี้แจงว่าปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง รายงานเพิ่มเติมว่า หนังสือฉบับนี้ เป็นการชี้แจงผลดำเนินการทั้งหมดของกรมโยธาฯ กับผู้รับจ้างทั้ง 2 บริษัท โดยเป็นเอกสารแนบท้ายหนังสือ ที่เป็นตารางระบุ ทั้งในส่วนรายละเอียดโครงการ การทำสัญญา การเบิกจ่าย การยกเลิกสัญญา วันที่ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ ปรากฏ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 พร้อมกันทั้ง 8 โครงการ และประกาศให้ หจก.เฮงนำกิน และ หจก.ประชาพัฒน์ เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮือฮามาก เนื่องจากพบว่า กรมโยธาฯ ได้ผู้รับจ้างรายเดิม ประกอบด้วย หจก.เฮงนำกิจ และ หจก.ประชาพัฒน์ เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้ง 8 โครงการ ทั้งๆ ที่เป็นผู้รับจ้างที่ถูกยกเลิกสัญญา และมีหนังสือเวียนห้ามเข้าประมูลงานของกรมโยธาฯ แล้ว ทั้งนี้ ตามเอกสารดังกล่าวในหน้าถัดมา ซึ่งเป็นส่วนระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้ง 8 โครงการยังระบุวันที่ 27 ส.ค. 67 อีกด้วย ที่ชัดเจนว่าแม้เป็นห้างที่ถูกยกเลิกสัญญาก็ยังสามารถเข้ารับงานและประมูลงานจากกรมโยธาธิการและผังเมืองได้
สำหรับโครงการนี้ที่ชาวกาฬสินธุ์ ประณามว่าโครงการ 7 ชั่วโคตรนั้น ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากการก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148,200,000 บาท เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาทิ้งงาน ชาวบ้านจึงออกมาร้องเรียนเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไข และให้มีการตรวจสอบ เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และทำเศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์เสียเป็นอย่างมาก จนมีกระบวนการตรวจสอบ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 67 นายจิรวัฒน์ สุภาพ ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหา พบว่าชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบ เดือดร้อน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ องค์กรการค้า รวมทั้งเครือข่าย ป.ป.ท. และธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้มีการติดตามตรวจสอบโครงการ ก่อนที่ต่อมาจะพบว่ายังมีอีก 7 โครงการ รวมเป็น 8 โครงการ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยเป็นผู้รับจ้างขาใหญ่ใน จ.กาฬสินธุ์ 2 ราย จึงเรียกร้องให้องค์กรอิสระเข้ามาทำการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของการเบิกจ่าย และดำเนินการกับผู้รับจ้างทิ้งงาน จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ
จากนั้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ขณะนั้น) พร้อมคณะ ได้เดินทางมาลงพื้นที่ด้วยตนเอง เห็นปัญหาเกิดขึ้นจริงและภาครัฐเสียหาย ยืนยันจะยกเลิกทั้ง 8 โครงการ ซึ่งต่อมาปรากฏเป็นเอกสารจากกรมโยธาฯ มีการยกเลิกโครงการ คือ (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชีบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย งบ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 2 ส.ค. 67, (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 1 ส.ค. 67 (3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย งบ 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 7 พ.ค. 67, (4) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย งบ 59,306,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 7 พ.ค. 67, (5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 3 พ.ค. 67, (6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ งบ 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ ยกเลิกสัญญา 7 พ.ค. 67, (7) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ ยกเลิกสัญญา 3 พ.ค. 67 และ (8) โครงการก่อสร้างเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ งบ 108,800,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ ยกเลิกสัญญา 7 พ.ค. 67 ทั้งนี้ หลังจากประกาศยกเลิกสัญญาแล้ว ในส่วนผู้รับจ้างทั้ง 2 บริษัทที่ถูกยกเลิกสัญญา จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์และมีหนังสือเวียน ไม่มีสิทธิเข้ามาประมูลงานของกรมโยธาฯ อีกต่อไป
ความเดือดร้อนที่เกิดจากผลกระทบการก่อสร้างผู้รับจ้างทิ้งงาน ในฤดูฝนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ขณะที่ริมตลิ่งลำน้ำพานและแม่น้ำชี จุดที่มีการก่อสร้าง พบว่าวัสดุ อุปกรณ์ เสาเข็ม ถูกน้ำท่วมจมหายและได้รับความเสียหายไปหมด รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้าที่ในช่วงต้นเดือน ต.ค. 67 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ติดตามปัญหา 7 ชั่วโคตร โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อไปชี้แจงที่รัฐสภา ในวันที่ 11 ต.ค. 67 นี้ ขณะเดียวกัน นายฉลาด ขามช่วง ประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภา ได้ส่ง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวงเงินแผ่นดิน ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาเช่นกัน รายงานระบุด้วยว่า กรณีนี้ กมธ.ป.ป.ช. มีมตินำปัญหานี้เข้าพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้ว
ด้านนายเอกกฤษณ์ สตาเขต สมาชิก อบจ.กาฬสินธุ์ เขต 1 กล่าวว่า หากข้อมูลตามเอกสารเป็นความจริง ก็เท่ากับว่าทางกรมโยธาฯ มีการพูดคุยและทำการประนีประนอมให้ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นผู้รับจ้างรายเดิมที่เคยทิ้งงาน นี่ยังจะได้กลับมาทำงานอีก จะสร้างความเชื่อถือหรือ ขนาดครั้งก่อนที่ได้สิทธิทำงานยังทิ้งงานเลย แล้วยังจะกลับมาทำงานได้ยังไง ตนและชาวบ้านไม่เห็นด้วย จึงอยากเรียกร้องให้กรมโยธาฯ ได้ฟังเสียงพี่น้องประชาชน โดยทบทวนและจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ที่มีฝีมือมาทำงานดีกว่า
ขณะที่นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการรทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการธรรมาภิบาล (กธจ.) จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องนี้ในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน เท่าที่มีการสอบถามกับทางสำนักงานโยธาฯ ก็บอกว่ากำลังจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ ถ้าเป็นบริษัทที่มีความสามารถก็ไม่เป็นไร หากเป็นบริษัทเดิมเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะทางกรมโยธาฯ มีการออกประกาศยกเลิก ห้ามมีการเวียนห้าง ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทางเครือข่าย ป.ป.ท. และ กธจ.กาฬสินธุ์ ก็จะมีการติดตามต่อไป.