หลังเป็นข่าวดังสะท้านวงการธุรกิจเครือข่าย เมื่อพิธีกรชื่อดัง หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรชื่อดัง ออกมาเปิดเผยข้อมูลของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งมีดาราระดับท็อปเป็นบอส และมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนว่าถูกขายฝันให้ร่วมลงทุน แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างนั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหลายราย โดยข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากผู้เสียหายที่ทำการสอบไปแล้ว 80 ปาก ได้แจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีการชักชวนให้ทำธุรกิจ โดยเป็นตัวแทนของบริษัท มีการให้อบรมเสียค่าอบรม จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเปิดเครดิต และอัปเกรดเป็นขั้นบันไดเริ่มจาก 2,500 25,000 และ 250,000 บาท ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดที่เกี่ยวกับเรื่องของธุรกิจการขายตรง แชร์ลูกโซ่ หรือการหลอกร่วมลงทุน โดยรวมมูลค่าความเสียหายที่สอบสวนทั้ง 80 คน อยู่ที่ 31 ล้านบาท ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ผู้ร้องร้องให้เอาผิดเครือข่ายดังกล่าว ในความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4, 5 และ 12 พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2560 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การตรวจสอบข้อกฎหมาย กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในหัวข้อ เงินสินบนและเงินรางวัล ระบุว่า “เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทําความผิดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ในเรื่องของสินรางวัล สําหรับผู้แจ้งเบาะแส เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจค้นหรือจับกุม”

บทลงโทษ
มาตรา 11/1 ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทําความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ให้ผู้แจ้งเบาะแสการกระทําความผิด มีสิทธิได้รับเงินสินบนและให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นหรือจับกุมผู้กระทําความผิดมีสิทธิได้รับเงินรางวัล โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากค่าปรับที่ผู้กระทําความผิดได้ชําระต่อศาลเมื่อคดีถึงที่สุด

มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

ถ้าหากเป็นกรณีขายตรง แต่มีลักษณะชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง ถือเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19 กําหนดโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ตามมาตรา 46

ความผิดที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
มาตรา 5 ผู้ใดกระทําการดังต่อไปนี้
(1) ในการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน
(ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใดหรือ
(ข) ดําเนินกิจการกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ
(ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ
(ง) จัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงินหรือ
(จ) ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมีจํานวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และ

(2) ผู้นั้น
(ก) จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ หรือ
(ข) ไม่ยอมปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 7 (1) (1) หรือ (3) หรือกิจการของผู้นั้นตามที่ผู้นั้นได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 7 ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนํามาจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินทั้งหลาย

ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 4 ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า กิจการของตนหรือของบุคคลที่ตนอ้างถึงนั้น เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนํามาจ่ายตามที่ตนได้กล่าวอ้าง หรือหากกิจการดังกล่าวไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียง ก็จะต้องพิสูจน์ได้ว่ากรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติอันไม่อาจคาดหมายได้ หรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น

ลักษณะความผิดตามมาตรา 5 ไม่ชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย แม้จะมีการกู้ยืมเงินมีอยู่จริง แต่ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน หากมีการจ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อยกเว้นวรรคท้ายของมาตรา 5 สําหรับความผิดตามมาตรา 4 นั้น เป็นลักษณะของการหลอกลวงผู้เสียหายให้นําเงินมาร่วมลงทุน (คําพิพากษาฎีกาที่ 8826/2554)

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินสินบนและรางวัล ให้จ่ายเป็นจํานวนรวมกันร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับที่ได้ชําระต่อศาล หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับเงินสินบนและเงินรางวัล การกําหนดส่วนแบ่งในระหว่างผู้มีสิทธิหลายราย และการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกําหนด

ขอบคุณข้อมูล : ด้านสืบสวนสอบสวนและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี