นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการแอลทีวี) เป็นการชั่วคราว โดยขยายเพดานขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ถึง 100% กู้เงินได้เต็มมูลค่าหลักประกัน ไม่ต้องมีเงินดาวน์ ครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง รีไฟแนนซ์ และสินเชื่อเพิ่มเติมด้วย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.65 คาดว่าผ่อนมาตรการแอลทีวีจะเติมเงินสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 50,000 ล้านบาท เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 65

ทั้งนี้ มาตรการแอลทีวีของเดิม หากเป็นบ้านหลังแรกมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อ 100% แต่เกิน 10 ล้านบาท ปล่อยไม่เกิน 90% ส่วนบ้านหลังที่ 2 ปล่อยสินเชื่อ 80-90% ขณะที่บ้านหลังที่ 3 ขึ้นไปจะปล่อยสินเชื่อ 70% ของมูลค่าหลักประกัน ทำให้ในส่วนที่เหลือจะต้องมีเงินดาวน์ ซึ่งในขณะนั้นออกมาตรการมาเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยมีทั้งในเรื่องเงินทอน และเก็งกำไร เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการแอลทีวีที่ผ่อนเกณฑ์ครั้งนี้ เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นแบบเฉพาะจุด เรียกว่าเป็นนาทีทอง เพราะจะให้มีผลถึงสิ้นปี 65 เท่านั้น หลังจากเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนจะไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำหลายอย่างทั้งคงดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำ, สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ และครั้งนี้เป็นภาคอสังหาฯที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยถึง 9.8% ของจีดีพี มีการจ้างงานรวม 2.8 ล้านคน

นอกจากนี้มาตรการทางการเงินที่ ธปท.ออกมา จะต้องทำควบคู่กับมาตรการทางการคลัง ที่ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการภาษีอสังหาฯ ลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% หลังจะสิ้นสุดสิ้นปี 64 ซึ่งอาจจะต่ออายุไปอีก 1 ปี ซึ่งจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าเดิม จากประเมินเบื้องต้น มาตรการแอลทีวีจะมีเงินสินเชื่อใหม่เข้าระบบ 50,000 ล้านบาท คิดเป็น 7% จากคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 64 ที่ 8 แสนล้านบาท

“การผ่อนมาตรการแอลทีวีครั้งนี้ จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะมั่นใจมาตรฐานปล่อยสินเชื่อของธนาคารว่า จะดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี มีความรัดกุม โดยตัวเลขหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 ปี 64 อยู่ที่ 3.66% และ ธปท.จะติดตามสถานการณ์หลังจากผ่อนมาตรการแล้วอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องเก็งกำไร”

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ สิ้นเดือน ส.ค.64 มียอดคงค้าง 2.59 ล้านล้านบาท เติบโตถึง 6.1% เมื่อเทียบช่องเดียวกันปีก่อน และเติบโต 3.4% เมื่อเทียบสิ้นปี 63 ที่มีอยู่ 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอล เริ่มชะลอลงเรื่อยๆ จากที่เคยสูงสุดที่ไตรมาสแรกปี 63 ที่ 4.04% มาอยู่ที่ 3.66% ในไตรมาส 2 ปี 64 คิดเป็นมูลหนี้ 94,250 ล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาตรการคงสถานะจัดชั้นหนี้ของ ธปท.ช่วงโควิด และสินเชื่อปล่อยใหม่ของที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก