เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กสทช. วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ก่อนส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และเร่งจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อความชัดเจน โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
(ร่าง) ประกาศดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพกันเอง ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตามมาตรา 39 และ 40 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
ตามสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศ ดังกล่าว กสทช. จะทำหน้าที่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน โดยให้การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการพัฒนาวิชาชีพการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบกิจการ รวมถึงให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขององค์กรวิชาชีพที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ในขณะที่องค์กรวิชาชีพจะมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้น ตอบสนองต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีการดำเนินการวินิจฉัยประเด็นทางจริยธรรม และเยียวยาผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ร่างประกาศนี้ได้รับมติเอกฉันท์จากบอร์ด กสทช. ในวันนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีมากเพราะเป็นการทำให้เจตนารมณ์ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่กฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2551 ได้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเสียที ต้องขอบคุณทั้งท่านกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่อยู่เบื้องหลังและมีส่วนผลักดันร่างประกาศนี้ทุกคน”
กสทช.พิรงรอง อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การกำกับดูแลกันเองของสื่อโดยองค์กรวิชาชีพและกลุ่มที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาชีพสื่อยังไม่ค่อยมีความชัดเจน โดยเฉพาะในการรับรู้ของสาธารณะ เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด การขาดความตระหนักรู้และความเข้าใจในกระบวนการกำกับดูแลกันเอง ตลอดจนสภาวะของอุตสาหกรรมธุรกิจสื่อที่อยู่ในช่วงขาลง
“สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องมีเสรีภาพในการทำงานประกอบกับความรับผิดชอบต่อสังคม มาตรฐานทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองจึงควรเป็นพื้นฐานหลักมากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งหากส่งเสริมให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้ก็จะสะท้อนความเข้มแข็งของสังคมและการเมืองควบคู่กันไปด้วย”
ทั้งนี้ ความพยายามผลักดันประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ กสทช. ชุดแรก และเมื่อ กสทช.ชุดที่สองเข้ามาทำงานก็มีการยกร่าง ปรับปรุงเนื้อหาและจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมายอีกครั้งในช่วงกลางปี 2566 แต่ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนทบทวนภายใน กสทช. มาอีกมากกว่าหนึ่งปีจึงได้ผ่านมติบอร์ดมาในวันนี้
อนึ่ง (ร่าง) ประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้องค์กรวิชาชีพฯ จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมซึ่งต้องประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพสื่อสารมวลชน นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเกี่ยวข้องกับจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาประเด็นทางจริยธรรมและเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะในระบบสารสนเทศขององค์กรและช่องทางอื่น เพื่อให้บุคคลโดยทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วย
ในการนี้ ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งรวมตัวกันสามารถยื่นจดแจ้งองค์กรวิชาชีพได้ทั้งกลุ่มที่จัดตั้งเป็นนิติบุคคลและที่ไม่เป็นนิติบุคคล โดยต้องมีกรรมการบริหารองค์กร ข้อบังคับกลุ่ม แนวทางดำเนินการ แผนการพัฒนากลุ่มหรือการพัฒนาวิชาชีพของสมาชิก มาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตาม (ร่าง) ประกาศเพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตามประเด็นที่ได้รับระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เช่น กำหนดขอบเขตการดำเนินการหรือการส่งเสริมองค์กรวิชาชีพ การกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ กรอบวงเงิน และระยะเวลาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. โดยจะไม่สนับสนุนให้กับองค์กรวิชาชีพใดที่ไม่ดำเนินการทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มีข้อสรุป ประการหนึ่งว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพแต่ละองค์กรที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือทำหน้าที่กำกับดูแลทางจริยธรรมกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการตีความจริยธรรมที่แตกต่างกันแต่ละองค์กร.