เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นางนวพรรษ ภู่ทรัพย์สกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและพยาบาล รพ.มหาราช ได้เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านนายกสมาคมสื่อมวลชน จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายยุทธนา แต่งวงศ์ นายกสมาคมสื่อมวลชน จ.ศรีธรรมราช และนายไพฑูรย์ อินทศิลา อุปนายกและประธานศูนย์ข่าวนคร 24 ชม. สมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ร่วมรับเรื่องร้องเรียน ขอช่วยเป็นตัวกลางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขระเบียบการเบิกค่าเวร เนื่องจากพยาบาลถูกตัดค่าเวร ทั้งนี้ได้เคยส่งร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

นางนวพรรษ กล่าวว่า ตนปฏิบัติงานอยู่แผนกศัลยกรรม รพ.มหาราช ตลอดระยะเวลา 35 ปี ของการเป็นข้าราชการในวิชาชีพพยาบาล รวมถึงเพื่อนร่วมงาน และน้อง ๆ ที่เป็นพยาบาลอีกจำนวนมาก ถูกเอาเปรียบเรื่องเงินค่าตอบแทนมาโดยตลอด คือเงินค่าเวรบ่าย-ดึกถูกตัดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อขึ้นเวรมากและหาคนอื่นมาขึ้นแทน ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกค่าเวรบ่าย-ดึก ให้คนที่มาเข้าเวรได้ ทำให้เจ้าของเวรจะต้องควักเงินจ่ายเอง ทาง รพ.ชี้แจงมาว่า ระเบียบการเบิกเงินค่าตอบแทนนั้นมาจากระเบียบที่ว่า วันไหนที่ตั้งเบิกค่าเวรแล้ว จะเบิกค่า OT ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง พยาบาลต้องควงเวรถึงวันละ 2 เวร ติดต่อกัน 3-4 วัน ระเบียบนี้จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้พยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่เวรมากเท่าใด ก็จะถูกตัดค่าเวรออกไปเรื่อยๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องอยู่เวรหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งระเบียบของ ก.พ. นี้ทำร้ายวิชาชีพพยาบาลมาโดยตลอด

นางนวพรรษ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ทาง รพ.มหาราช จ่ายค่า OT ให้พยาบาล วันละ 660 บาท และค่าเวรบ่าย-ดึก 280 บาท/เวร ซึ่ง 280 บาทนี้ให้เป็นค่าอยู่เวรกลางคืน ที่ต้องเสียสุขภาพต้องอดหลับ อดนอน แค่ 280 บาท แต่ก็ยังมาถูกตัดออกไปอีก ชีวิตพยาบาลเหมือนถูกโกงมาโดยตลอด ทำให้พยาบาลที่อยู่เวรกลางคืนไม่สามารถรับค่าเวรได้ทุกคืนเท่ากัน เช่น ขณะที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เวรบ่าย 8 คน อาจจะมีแค่ 7 คนได้ค่าเวร ส่วนอีก 1 คนไม่ได้ เพราะคน ๆ นั้นขึ้นเวรมากจนไม่มีที่จะให้ตั้งเบิก

นางนวพรรษ กล่าวต่ออีกว่า ชีวิตพยาบาลถูกแรงกดดันเรื่องเงินคำตอบแทนนี้มานานมาก จนเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงแรกตนและทีมสหภาพพยาบาลคิดว่าท่านคงจะเห็นใจพยาบาลและให้ความสำคัญกับพยาบาลให้ไม่ถูกเพิกเฉยอีกต่อไป ตนจึงเขียนบทความ “ลมหายใจสุดท้ายของพยาบาลไทยในยุคปฏิรูป” แนบท้าย รวมไปกับข้อร้องเรียนกับทีมสหภาพพยาบาล เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 58

“หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบมาจนถึงปัจจุบันและนับวันชีวิตของคนที่อยู่ในสายวิชาชีพพยาบาล ยิ่งเหมือนอยู่ใกล้ขุมนรกเข้าไปทุกที โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดอย่างหนัก บุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อกันจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ ต้องทำงานหนักและติดเชื้อโควิดไปพร้อม ๆ กับผู้ป่วยอย่างระเนนระนาด ส่วนที่เหลือก็ต้องเข้าเวรอย่างหนักเป็นเท่าตัว อุปกรณ์ของใช้ที่จะมาป้องกันตัวก็ขาดแคลน อีกทั้งยังมาถูกตัดค่าเวรเพิ่มขึ้น ปัญหานี้เชื่อว่าเกิดกับพยาบาลเกือบทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข พยาบาลในตอนนี้กำลังจะสิ้นใจอย่างรวยรินไร้คนช่วยเหลืออย่างจริงจัง” พยาบาลสาว กล่าว

นางนวพรรษ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องของตนและสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยประกอบด้วย 1. เร่งจ่ายค่าตอบแทนที่ค้างจ่ายบุคลากรสาธารณสุขทั้งประเทศ บางที่ถูกค้างถึง 19 เดือน 2. อัตราการจ่ายคำตอบแทนไม่เป็นธรรมตามวิชาชีพ ค่าความเสี่ยงควรต่างกันตามเนื้องาน 3.สหภาพพยาบาลได้ร้องขอให้ชดเชยการตายจากโควิด-19 เพิ่มอีก 1 เท่า คือ 4 ล้านบาท ยังแต่ไม่ได้รับคำตอบ และ 4.พยาบาลถูกตัดค่าเวรเพิ่มขึ้นตามจำนวนเวรที่ถูกขึ้นเพิ่มมากเรื่อยๆ เนื่องจากระเบียบการตั้งเบิกที่วางไว้อย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งพยาบาลต้องใช้เงินของตนเองไปจ่ายคู่เวรบ่าย-ดึกแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบ

นางนวพรรษ กล่าวต่อไปอีกว่าว่า ตนตัดสินใจที่จะออกมาต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อน้องๆ พยาบาลในรุ่นต่อไป ส่วนตนจะถูกผู้บังคับบัญชาหมายหัวเพื่อเล่นงานกลั่นแกล้งอย่างไรนั้น ตนไม่กลัวใด ๆ ทั้งสิ้น ตนอายุ 56 ปีแล้ว อะไรจะเกิดมันต้องเกิด หากตนไม่ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องการเอารัดเอาเปรียบพยาบาลก็ต้องมีอยู่ตลอดไป จึงตัดสินใจดับเครื่องชน และจะขอต่อสู้เรียกร้องเพื่อวิชาชีพพยาบาลต่อไปจนถึงที่สุด.