เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ต.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคดีของ เตี้ย มช. สุนัขขาสั้นพันทาง ที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่รู้จักเนื่องจากเป็นสุนัขที่น่ารักและเป็นที่จดจำได้ง่าย โดยเฉพาะงานประเพณีรับน้องของนักศึกษา จะเห็น เตี้ย มช. เข้าร่วมเดินขึ้นดอยกับกลุ่มนักศึกษาด้วย ต่อมาได้ถูกบุคคลปริศนาพาขึ้นรถก่อนจะทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 63 กระทั่งเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดเจอ และกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ทารุณกรรมสัตว์ ส.ต.ท. ตำรวจ ตชด.ถูกฟ้องฆ่าสุนัขพันทางขวัญใจชาว มช. โดยศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ก่อนจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อ และศาลได้นัดฟังคำตัดสินอีกครั้งในวันนี้

บรรยากาศที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล แฟนคลับของพี่เตี้ย มช. และกลุ่มแฟนคลับ รวมทั้ง นางภูริตา วัฒนศักดิ์ ประธานมูลนิธิและหัวหน้ากฎหมายมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ และกลุ่มเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้มารวมตัวกันและเข้ารับฟังคำตัดสินของศาลจังหวัดเชียงใหม่

น.ส.รุ้งนภา ชยุติมันต์กุล แฟนคลับของพี่เตี้ย มช. กล่าวว่า ความคาดหวังในครั้งนี้คือการบังคับใช้กฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญในเมื่อมีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์มาตั้งแต่ปี 2557 ช่วง 10 ปีมานี้ก็มีการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้นทุกวัน ในกรณีนี้เป็นเหตุจงใจและเจตนาฆ่าพี่เตี้ย มีการวางแผนล่วงหน้า จึงอยากให้คดีพี่เตี้ย เป็นคดีตัวอย่าง เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายสามารถปกป้องคุ้มครองสัตว์ได้อย่างแท้จริง หากผลในวันนี้ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็คงเสียใจ เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีแล้วไม่สามารถบังคับใช้ได้ กฎหมายก็เป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่ไม่เกิดการปฏิบัติใช้จริง ดังนั้นการทารุณกรรมสัตว์ก็จะเกิดขึ้นทุกวันและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการลดน้อยลง เพราะคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ก่อนหน้านี้ทางศาลได้ตัดสินโทษกับผู้กระทำความผิดจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เป็นการตัดสินของศาลชั้นต้น แต่ได้มีการอุทธรณ์ต่อเพื่อขอเพิ่มโทษในคดีนี้ และเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจมาก ซึ่งพี่เตี้ย ทำประโยชน์ให้กับสัตว์จรจัดและสัตว์ที่อาศัยอยู่ใน มช. เป็นอย่างมาก เพราะมีเม็ดเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน ในวันนี้เรามั่นใจมากในเรื่องของการต่อสู้ด้านคดี เพราะกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ไม่เพียงแต่เจ้าของ เพราะตามกฎหมายคำว่า เจ้าของ ในเรื่องของการทารุณกรรมสัตว์คือผู้ดูแลด้วย และทุกคนทราบว่า เพจเตี้ย มช. เป็นผู้ดูแลสุนัขตัวนี้มาโดยตลอด จึงได้มีชื่อและนามสกุลว่า เตี้ย มช. เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณชนโดยทั่วไปว่าพี่เตี้ย เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ โดยสิ่งคาดหวังเรื่องการตัดสินโทษอยากให้ตัดสินในอัตราโทษสูงสุด คือจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท ในส่วนของการลักทรัพย์กลางคืน ก็เป็นส่วนของทางศาลที่จะพิจารณาว่าจะมีโทษอย่างไร

นางภูริตา วัฒนศักดิ์ ประธานมูลนิธิและหัวหน้ากฎหมายมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ กล่าวว่า ประเด็นอุทธรณ์เยอะมากทั้งฝ่ายเราและฝ่ายจำเลย ทางศาลอุทธรณ์พยายามมากแล้วที่จะให้แล้วเสร็จในวันนี้ แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ทัน จึงได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 13 ม.ค. 68 ก็ไม่แปลกใจที่มีการเลื่อน เพราะทางเรารู้ดีอยู่แล้วเรื่องสำนวนการฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งแน่นหนาและละเอียดมาก ไม่สามารถทำละเอียดมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าละเอียดมากพอที่จะพิจารณาเพิ่มก็รู้สึกดีใจมากด้วยซ้ำไป เพราะศาลให้ความสำคัญในประเด็นที่เราฟ้องไป ทั้งเรื่องของการเพิ่มโทษการทารุณกรรมสัตว์ และขอให้พิจารณาประเด็นการลักทรัพย์กลางคืน เพราะต้องพิจารณาว่า เตี้ย เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ หรือมีผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมศักดิ์ หรือเพจเตี้ย มช. และทางเพจเตี้ย มช. ก็ให้ความร่วมมือดีอยู่แล้วในเรื่องของการยอมรับว่า เตี้ยเป็นหมาชุมชนและอยู่ในความดูแลของเพจเตี้ย มช. ซึ่งตรงกับความหมายของเจ้าของสัตว์ ของ พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ ปี 57 เพราะความหมายของเจ้าของสัตว์คือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแล ซึ่งโทษการทารุณกรรมสัตว์ได้พิจารณาแล้ว และสมความปรารถของพวกเรา แต่เหลือโทษลักทรัพย์กลางคืนที่ต้องชี้ให้เห็นว่า เตี้ย เป็นหมามีเจ้าของหรือผู้ดูแล

“ในวันนี้อัยการศาลสูงได้ดำเนินการให้เราอย่างดี เรามีความหวังมาก แต่จะเลื่อนออกไปอีกสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาอย่างครบถ้วนเราก็ยินดี ซึ่งการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ได้มีแค่ข้อหาการทารุณกรรมสัตว์อย่างเดียว และมีข้อหาที่เป็นกฎหมายอาญาเพิ่มด้วย อย่างคดีของพี่เตี้ย ซึ่งคดีทารุณกรรมสัตว์ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นความจริง เหลือแต่การพิสูจน์เรื่องว่าพี่เตี้ย เป็นสัตว์มีเจ้าของ เพราะคุณลุงสมศักดิ์ เป็นผู้ดูแลมาตั้งแต่แรก และทางเพจเตี้ย มช. ได้รับมาดูแลต่อในฐานะหมาชุมชน ก็หมายความว่า เตี้ย มีผู้ดูแลและตรงกับความหมายของกฎหมายอยู่แล้ว จึงรอเรื่องของข้อหาลักทรัพย์กลางคืนเพราะว่าโทษสูงกว่าการทารุณกรรมสัตว์” นางภูริตา กล่าว