สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ว่านางคิม แท-ฮี ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขเทศบาลกรุงโซล กล่าวว่า พวกเขาต้องการแก้ไขนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงเพื่อช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ผ่านการดำเนินการเชิงรุก

ในปี 2566 กรุงโซลมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2558 อยู่ที่สัดส่วน 23.2 ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ชาวกรุงโซล 1 ใน 2 คนคิดว่าตนเองมีปัญหาทางจิต และมีจำนวนผู้ที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 8.5 ภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าอัตราโดยรวมทั่วประเทศถึง 1.8 เท่า

แผนการใหม่จะกำหนดให้มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในศูนย์ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์เพียง 12 คน และมีแผนจะเพิ่มให้เป็น 30 คน ภายในปี 2569 รวมทั้งช่องทางให้คำปรึกษาผ่านทางแอปพลิเคชันสนทนา อาทิ กาเกา ทอล์ก และแชตบอท ซึ่งจะดำเนินการโดยเทศบาลกรุงโซล

ภายในปี 2569 กรุงโซลตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทั้ง 27 เขตของเมืองหลวง แม้จะยังคงให้บริการเพียงภาษาเกาหลี โดยแต่ละเขตจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาเบื้องต้น และอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ในสถาบันจิตวิทยาหากจำเป็น

มากไปกว่านั้น กรุงโซลจะเปิดตัวโปรแกรมสำหรับชุมชน ซึ่งจะมอบหมายให้ผู้นำชุมชน, แพทย์ในละแวกใกล้เคียง และเจ้าของร้านค้า คอยระบุบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง และแนะนำให้พวกเขาเข้ารับคำปรึกษาเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยจะมุ่งไปที่เขตซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง, ครัวเรือนที่มีผู้อาศัยคนเดียว และพื้นที่ซึ่งมีอัตราการติดสุราสูง

ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันการฆ่าตัวตายของกรุงโซล ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อวิเคราะห์สถิติการฆ่าตัวตายอย่างใกล้ชิด และแบบสอบสวนการฆ่าตัวตาย รวมถึงพัฒนาคู่มือป้องกัน และแจกจ่ายให้กับหน่วยงานท้องถิ่น.

เครดิตภาพ : AFP