วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านหนองหิน ต.พิมาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ  อีกหนึ่งชุมชนที่รวมกลุ่มกันสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและการเงินควบคู่ไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิดนำ“ต้นไม้” มาใช้เป็น “สินทรัพย์” ที่สามารถสะสมไว้สร้างมูลค่าในระยะยาวเป็นไปตามคอนเซ็ป (Concept) ธนาคารต้นไม้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีเป้าหมายให้ชุมชนมีรายได้ ขณะเดียวกันก็ได้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน

การเกิดขึ้นของธนาคารต้นไม้บ้านหนองหิน เป็นความตั้งใจให้สอดรับกับปัญหาการลดลงของพื้นที่สีเขียวและปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนโดยอาศัยต้นไม้เป็นฐานราก ในลักษณะให้สมาชิกในชุมชนปลูกต้นไม้และจดทะเบียนเพื่อสะสมเป็น“ทรัพย์สิน” ซึ่งจะค่อยๆเพิ่มมูลค่าแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ทางการเงินได้ในอนาคต

อีกผลพลอยได้ของธนาคารต้นไม้ คือ โครงการคาร์บอนเครดิตของบ้านหนองหินที่ใช้ประโยชน์จากการนำต้นไม้มาประเมินมูลค่าในรูปของคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้  ผ่านการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สะสมในแต่ละปี  ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันสิ่งแวดล้อม

อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทำให้เกิดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและสะสมในเนื้อไม้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยชุมชนสามารถขายคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการดูดซับของต้นไม้ให้กับหน่วยงาน หรือบริษัทที่ต้องการการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (carbon offset)

สำหรับชุมชนบ้านหนองหิน เดิมพื้นที่เคยแห้งแล้ง ขาดน้ำ ก่อนที่ต่อมาจะพลิกฟื้นสู่การเป็น “พืชสวนป่า คันนาทองคำ” ด้วยการทำทุ่งให้กลายเป็นป่า ทำนาให้กลายเป็นสวน โดยใช้ระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  ทำให้สามารถปลูกไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้กินได้  ผสมผสานเป็น “ป่าชุมชน” จนได้รับรางวัลอย่าง“ชุมชนไม้มีค่า  ป่าครอบครัวดีเด่น” ระดับประเทศ

แรม  เขตนิมิตร ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านหนองหิน ถ่ายทอดมุมมองหลังดำเนินการเป็นวิสาหกิจฯและชุมชนไม้มีค่า สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ 1.รายได้ 2.ความมั่นคงทางอาหาร และ3.สิ่งแวดล้อม

หัวใจหลักของแนวคิด “คันนาทองคำ” คือ การปลูกไม้มีค่า  เช่น พะยูง  ยางนา แซมกับการปลูกไม้ผลบนคันนาพื้นที่ 12 ไร่ โดยใช้ความอดทนแบบค่อยเป็นค่อยไป

“เดิมพื้นที่ค่อนข้างโล่ง แต่เมื่อลงมือทำให้เป็นต้นแบบก็เกิดสงสัยกันว่าทำได้อย่างไร ทำแล้วได้อะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนต้องพยายามสื่อสาร ควบคู่ไปกับอุดมการณ์ในการพัฒนา”

ทั้งนี้ ย้ำว่านอกจากป่า และผลพลอยได้จากการเปลี่ยนอากาศให้เป็นเงิน สิ่งที่กำลังตามมาคือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพผู้คน ตามด้วยผลลัพธ์การพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นอกจากนี้ บ้านหนองหินยังพยายามเพาะกล้าไม้ท้องถิ่นที่สำคัญอย่าง“มะกล่ำต้น” โดยใช้สูตรผสมดิน 3 ส่วน แกลบ 2ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ซึ่งมะกล่ำต้นยิ่งโตจะยิ่งมีมูลค่า 

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านหนองหิน ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนข้อมูลความรู้จาก ธ.ก.ส. เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ BAAC Carbon Credit  โดย นรากร  ไชยสิทธิ์  ผอ.สำนักงาน ธ.ก.ส. จ.ศรีสะเกษ  ระบุถึง ความตั้งใจในการนำชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่โครงการ BAAC Carbon Credit ขณะเดียวกันก็ยังรับบทบาทติดตามโครงการเมื่อถึงเวลาต้องประเมินต้นไม้ ธ.ก.ส. จะเข้ามาให้คำแนะนำ เช่น การจัดทำเอกสาร เพื่อให้การเข้าสู่โครงการมีความสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด

การสร้างป่าเป็นเรื่องของความอดทน การลงแรงกายแรงใจ  ยิ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์และประโยชน์ของการปลูก ยิ่งมีแรงผลักดันให้คิดพัฒนาจากตนเองสู่ชุมชน และส่งต่อไปถึงลูกหลานรุ่นต่อไป