สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ว่า นโยบายต่างประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลสหรัฐ ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก 4 ปี ระหว่างปี 2560-2564 มีความชัดเจนในตัวเองว่า ให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนั้น อีก 4 ปีที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทรัมป์จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2568 สถานการณ์ในตะวันออกกลาง จะยังคงเป็น “จุดร้อนด้านภูมิรัฐศาสตร์” ที่ทรัมป์ให้ความสนใจในระดับสูง
ในช่วง 4 ปีนั้น ทรัมป์สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเลือกซาอุดีอาระเบียเป็นจุดหมายแห่งแรก ของภารกิจเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้นำสหรัฐ ทรัมป์พยายามผลักดัน “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ยกระดับความสนับสนุนอิสราเอล ด้วยการรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง ซึ่งจุดชนวนการประท้วงครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง และเดินหน้ามาตรการกดดันอิหร่านในแทบทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังทรัมป์หมดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรก การกลับมาของทรัมป์ จึงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด จากทุกประเทศ และทุกกลุ่มการเมืองในภูมิภาคแห่งนี้
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ยกย่องชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “คือการคัมแบ๊กครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” ซึ่งนอกจากจะเป็น “การเริ่มต้นใหม่” สำหรับอเมริกา และเป็นการฟื้นคืนความมุ่งมั่น ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล การเป็นพันธมิตรที่เยี่ยมยอดระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล “คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่!”
อนึ่ง นอกจากรัฐบาลวอชิงตันในยุคทรัมป์ ประกาศรับรองนครเยรูซาเลม “คือเมืองหลวง” ของอิสราเอลแล้ว ยังเป็นประเทศแรก ที่ย้ายสถานเอกอัครราชทูตออกจากกรุงเทลอาวีฟ ให้ไปประจำที่นครเยรูซาเลม จนถึงปัจจุบัน และยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลบนที่ราบสูงโกลัน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับซีเรีย
ทั้งนี้ ทรัมป์ไม่น่าต้องการให้สงครามในฉนวนกาซา ซึ่งตอนนี้ขยายวงกว้างลุกลามไปเป็นปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ทั้งในเลบานอนและซีเรีย “ยังคงลุกเป็นไฟ” เมื่อเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทรัมป์น่าจะพยายามโน้มน้าว หรืออาจถึงขั้นกดดดัน ให้เนทันยาฮูเร่งบรรลุข้อตกลงกับคู่กรณีทุกฝ่าย และให้อิสราเอล “เป็นฝ่ายประกาศชัยชนะ”
แม้ทรัมป์ยังไม่เคยพูดอย่างชัดเจน ว่ารัฐบาลสหรัฐในอนาคตจะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางยุติอย่างไรและเมื่อใด หรือมีแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันอย่างไร แต่ทรัมป์กล่าวเป็นนัยมาตลอดว่า “อิสราเอลต้องยุติสิ่งที่ตัวเองเป็นฝ่ายเริ่ม” และต้องดำเนินการ “ให้เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลเช่นกัน ว่าทรัมป์อาจเอาใจหรือประนีประนอมกับอิสราเอล ด้วยการปล่อยให้อีกฝ่ายอนุมัติแผนการขยายอาณาเขตนิคมที่อยู่อาศัยในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งจะยิ่งเป็นการ “คุกคามและสั่นคลอน” แนวทางสองรัฐ ที่ทุกฝ่ายยังคงยืนกราน ว่าเป็นหนทางสำคัญและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้อิสราเอลและปาเลสไตน์บรรลุสันติภาพร่วมกันได้
ขณะเดียวกัน การกลับคืนสู่ทำเนียบขาวของทรัมป์ ยังจะเป็นบททดสอบสำคัญอีกครั้งของอิหร่าน ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องเผชิญกับ “มาตรการกดดันขั้นสูงสุด” จากรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งโดดเดี่ยวอิหร่านในทางเศรษฐกิจอย่างมาก นับตั้งแต่ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เมื่อปี 2561 แล้วกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่ออิหร่าน ที่รัฐบาลไบเดนยังคงสานต่อจนถึงปัจจุบัน
แม้นางฟาเตเมห์ โมฮาเจรานี โฆษกรัฐบาลอิหร่าน กล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐว่า “ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอิหร่านเป็นพิเศษ” และเน้นว่า นโยบายหลักของทั้งสองประเทศ “เป็นสิ่งตายตัว” จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างง่ายดาย จากการเปลี่ยนแปลงผู้นำเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม โมฮาเจรานีกล่าวว่า รัฐบาลเตหะราน “เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว” สำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐ แต่ยังไม่มีการขยายความ ซึ่งมีการวิเคราะห์อีกว่า การกลับมาของทรัมป์ ในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่คอยบัญชาการ ท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด.
เครดิตภาพ : AFP