แมกไม้สายน้ำ” อุดมสมบูรณ์ ปรากฎให้เห็นได้ที่ “บ้านถ้ำเสือ” ชุมชนเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่คู่ผืนป่าและสายน้ำใน .แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พื้นที่นี้เป็นหนึ่งในสมาชิก “ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ” ตามแนวคิดเปลี่ยนต้นไม้ให้มีมูลค่า เสมือนฝากเงินในธนาคาร

สุเทพ พิมพ์ศิริ” ประธานเครือข่าย ธนาคารต้นไม้ฝ่ายภาคตะวันออก ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า หลังวางกฎกติกาให้มีการปิดป่าตั้งแต่หลังปี 2552 เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการเคารพกติกาการใช้ไม้ในแต่ละครอบครัวจะไม่ควรเกินจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะการขออนุรักษ์ในส่วนไม้ยืนต้น ส่วนไม้ใช้สอยใช้จะมีการกำหนดจำนวนการใช้ต่อปีไว้ เป็นผลให้นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ “สีเขียว” กลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบ้านถ้ำเสือยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น ร้านค้า พ่อค้าแม่ค้า และภาคเกษตรกรรม

เราเคยบอกว่าจะลด ละ เลิกเคมี ใครพร้อมให้เข้ามาขายกันได้ที่ตลาด ทำให้คนทุกสาขาอาชีพมีรายได้จากการท่องเที่ยว”

ด้วยสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายบนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ อีกทั้งการร่วมใจกันของผู้นำและชุมชน ประกอบกับแรงสนับสนุนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีโอกาสเข้าไปช่วยต่อยอดสู่โครงการกลุ่มธนาคารต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต

ทวี นาคน้อย” ผอ.สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2567 ธ.ก.ส.จังหวัดเพชรบุรี ได้ให้การสนับสนุนธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือในการเข้าสู่ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือที่เรียกว่า T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เป็นการขายอากาศ หรือ คาร์บอนเครดิต

รูปแบบคือ เป็นการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ไปดูดซับ กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เมื่อดูดซับแล้วก็คิดเป็นมูลค่าไปขายต่อให้ภาคเอกชนและราชการ หรือกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ”

ด้าน “สามารถ เอี่ยมวงษ์” รอง ผอ.ฝ่ายกิจการ ธ.ก.ส. สาขาภาคตะวันตก ระบุถึง การดำเนินการคาร์บอนเครดิตว่ามี 4 ส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าของโครงการคือ ตัวชุมชนที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจธนาคารต้นไม้ , ธ.ก.ส. ที่เป็นผู้พัฒนาโครงการ , ธ.ก.ส. ส่วนกลาง ที่ต้องทำหน้าที่ประสานหาบริษัทมาประเมิน และนายทะเบียนคือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

หลัก ๆ ถือเป็นการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับพัฒนาคน ส่วนเงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตถือเป็นผลพลอยได้”

สำหรับโครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นไม้และพื้นที่ป่า เพื่อสร้างความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อมและรายได้ของคนในชุมชนไปพร้อมกัน เป็นการดำเนินการผ่านการส่งเสริมการปลูกต้นไม้และสร้างการบริหารจัดการแบบธนาคาร เพื่อให้ชุมชนเห็นคุณค่าของต้นไม้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของโครงการคือ การเปลี่ยนต้นไม้ให้มีมูลค่าเสมือนเงินฝากในธนาคาร โดยชุมชนสามารถฝากต้นไม้ที่ปลูกไว้กับ ธนาคารต้นไม้ และนำมูลค่าต้นไม้มาประเมินเป็นทุนทรัพย์ หรือใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน โดยที่ชุมชนยังคงเป็นเจ้าของต้นไม้เหล่านั้น ขณะเดียวกันยังเป็นโครงการที่เน้นส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูระบบนิเวศอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. ยังมีส่วนสำคัญในการจัดตั้ง “ตลาดริมน้ำจามจุรี” เพื่อรองรับสินค้า อาหารท้องถิ่น ซึ่งมี “จุดเด่น” ที่วัตถุดิบสดใหม่ เนื่องจากปลูกและหาได้ในพื้นที่ให้กลายเป็นตลาดชุมชน

นอกเหนือการค้าขายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ภาคเกษตร และงานฝีมือ ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชีวิต เพราะบรรยากาศซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดนับเป็นอีก “ไฮไลต์” ที่มีเสน่ห์ชวนให้มาเยือน หรือหากสนใจท่องเที่ยวบ้านพักแบบโฮมสเตย์ ลักษณะชุมชนที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ใจกลางแม่น้ำ มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน และมีกิจกรรมที่สามารถ “เที่ยวได้ทุกฤดูกาล” ก็เป็นตัวเลือกให้สายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีโอกาสแวะมาสำรวจ