พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. ได้จัดประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก “ก้าวสู่บทใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน” ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยจัดประชุมทุก 2 ปี เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงของ Sister Airport ทั้ง 18 ท่าอากาศยานทั่วโลก ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ตลอดจนทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับการดำเนินงาน และพัฒนาอุตสาหกรรมการบินด้วยความยั่งยืนต่อไป
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ในปี 68 ทอท. จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement) อีก 3 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนา ประเทศออสเตรีย, ท่าอากาศยานมิลาโนมัลเปนซา ประเทศอิตาลี และท่าอากาศยานซอลต์เลกซิตี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นท่าอากาศยานชั้นนำของโลก และ ทอท. สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการบริหารจัดการกลุ่มผู้โดยสารยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้กับสนามบินของไทยต่อไป รวมถึงเจรจากับสายการบินในยุโรป เพื่อเปิดเส้นทางบินมายังประเทศไทยมากขึ้น ปัจจุบันผู้โดยสารกลุ่มยุโรป เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก
นายกีรติ กล่าวต่อว่า การจะผลักดันให้ ทสภ. เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ อยู่ที่จำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารถ่ายลำ หรือเปลี่ยนลำ (Transit/Transfer) ซึ่งตัวเลขปัจจุบันของ ทสภ. ปริมาณผู้โดยสารกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 4% ของผู้โดยสารทั้งหมด และกำลังทยอยเพิ่มขึ้นจากการเจรจากับสายการบินต่างๆ อาทิ กลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสายการบินชั้นนำ และใหญ่ที่สุดในโลก โดยการจะเป็นฮับการบินได้นั้น ต้องมีตัวเลขผู้โดยสาร Transit/Transfer ประมาณ 20% ซึ่งท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ ตัวเลขผู้โดยสารกลุ่มนี้อยู่ที่ 40% อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 68 ตัวเลขผู้โดยสาร Transit/Transfer ของ ทสภ. จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 5% และจะพยายามผลักดันให้ถึง 20% ภายใน 5 ปี หรือประมาณปี 72
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีโลเคชั่นที่ดี เหมาะสมกับการเป็นฮับการบิน เพราะเป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางสามารถเชื่อมต่อได้ยุโรป เอเชีย และอเมริกา ถือเป็นจุด Transit/Transfer ที่ยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินต่างๆ ที่เข้ามายังประเทศไทย ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 โดยภาพรวมปีนี้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ทสภ. อยู่ที่ 60 ล้านคนแล้ว ซึ่งผู้โดยสารชาวจีนกลับมาแล้ว 82% เมื่อเทียบกับช่วงปี 62 ขณะที่อินเดีย เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงปี 62 ไปแล้ว คาดว่า ทอท. จะสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
นายกีรติ กล่าวต่อว่า นอกจากการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารกลุ่ม Transit/Transfer ให้มากขึ้นแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดี ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้ ทสภ. สามารถเป็นฮับการบิน และเข้าไปติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้ โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างเร่งทบทวนแผนแม่บทการพัฒนา ทสภ. เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้มีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) และทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. ได้เพิ่มมากขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ทสภ. เตรียมก่อสร้างพื้นที่ส่วนต่อขยายด้านตะวันออกของอาคารผู้โดยสารหลัก ทสภ. ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่เพิ่มอีก 8.1 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้อาคารผู้โดยสารหลัก มีพื้นที่เพิ่มเป็น 2.5 แสน ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 80 ล้านคนต่อปี และในปี 68 มีแผนเดินหน้าก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 4 และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้ พื้นที่ประมาณ 6.57 แสน ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 70 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของผู้โดยสาร ทสภ. ได้เป็น 150 ล้านคนต่อปี รวมทั้งจะมีการสร้างห้างสรรพสินค้าอยู่ใกล้กับอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ด้วย (Airport Plaza) วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.7 แสนล้านบาท.