เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ จ.อุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าจะมีการนำเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พ.ย. นี้ ว่า ตนสนับสนุนให้ขึ้นค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่มันต้องคิดควบคู่กันไประหว่างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกับเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะต้องมีมาตรการภาษีไปช่วยเขา ซึ่งต้องให้เครดิตกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยคิดแบบนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าเหตุใดตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงเลย และเท่าที่เข้าใจคือตอนขึ้นเวทีดีเบตหาเสียงด้วยกัน คือปีแรก 400, 500, 600 และ 700 บาท แต่ตอนนี้อยู่ในเดือน พ.ย. 2567 แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ผ่านไป 14 เดือนแล้ว ค่าแรงยังไม่ขึ้น แรงงานก็เลยคิดว่าทำไมสัญญาไม่เป็นสัญญา แล้วทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น
เมื่อถามว่ารอบนี้จะขึ้นได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า มีความพยายามจะขึ้นเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สมุย ที่ค่าแรงสูงอยู่แล้ว แต่ตนก็หวังว่า จะไม่ประวิงเวลาแล้ว และสิ่งที่ตัวเองแปลกใจก็คือ เวลามีการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งหนึ่ง ก็จะสัญญาในลักษณะนี้ จำได้ว่าตอนเวที อบจ.พิษณุโลก ก็มีคนของพรรคเพื่อไทยขึ้นเวที แล้วก็บอกว่าเงินหมื่นกำลังจะมา และพอมาเลือกตั้ง อบจ.อุดรธานี ก็บอกอีกว่าเงินหมื่นสำหรับผู้สูงอายุกำลังจะมา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเขาเป็นรัฐบาลมาตั้ง 14 เดือน มันน่าจะทำตามสัญญาได้ตั้งแต่ตอนแรก เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ดังนั้น หวังว่ามันจะไม่ใช่การขายฝัน เพราะตนก็เข้าใจหัวอกของพี่น้องแรงงาน เข้าใจถึงหัวอกผู้สูงอายุ ที่เขาลำบากจริงๆ ไม่อยากจะเอาเรื่องนี้ มาเป็นประเด็นทางการเมือง
“แต่สิ่งที่ต้องถามคำถามคือการหาเสียง 2-3 วันที่ผ่านมา เขาหาเสียงเหมือนเขาเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้หาเสียงเหมือนตัวเองเป็นรัฐบาล ไม่ได้หาเสียงเหมือนนายกฯ เศรษฐา เป็นนายกฯ มาก่อน ตอนนี้ก็ 14 เดือนแล้ว ที่สามารถจะทำได้ง่ายๆ วิธีที่จะให้เงิน 10,000 บาทอะไรก็แล้วแต่ คุณศิริกัญญา ตันสกุล นำเสนอมาโดยตลอด และธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยทักท้วงมาตลอด แต่นี่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วนไปวนมา และสุดท้ายก็วนกลับมา ทำให้ประชาชนต้องรอถึง 14 เดือน ค่าแรงที่บอกจะขึ้นก็ไม่ขึ้น ก็ไปดูเฉพาะที่มันสูงกว่าอยู่แล้ว หรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว แล้วก็ยังรอเวลามาจนถึงทุกวันนี้ ผมก็คิดว่าประชาชนมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม ว่ามันเป็นเทคนิคการหาเสียงหรือเป็นเรื่องที่ตั้งใจจริง” นายพิธา กล่าว
นายพิธา ยังกล่าวถึงการแจกเงินหมื่นกลุ่มผู้สูงอายุ ว่า การแจกเงินไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป สิงคโปร์ก็มีการแจก แต่มันต้องดูพื้นที่การคลังของแต่ละประเทศด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาเรื่องของระยะสั้นก่อน ควรจะแจกกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ก็แนะนำมาเป็นปีแล้ว แต่ก็ไม่ยอมฟังกัน
เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มอื่นๆ ที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับเงินหมื่นหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนไม่ทราบวิธีคิดจะเป็นอย่างไร เพราะตอนที่เป็นนโยบายยื่นให้ กกต. หรือขึ้นเวทีปราศรัย เขาก็ไม่ได้พูดแบบนี้ เขาบอกว่าจะเป็นบล็อกเชน เป็นดิจิทัลวอลเล็ต และแจกพร้อมกันถ้วนหน้าตั้งแต่ 16 ปี ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อย่างน้อยตอนที่ตนยังเป็น สส. อยู่ ก็จำได้ว่าเปลี่ยนไปถึง 7-8 ครั้ง ทำให้มันไม่รู้เลยว่า อะไรจะเป็นอะไรแล้ว