สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า หลังสำนักข่าวแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (เอสพีเอ) รายงานการประหารชีวิตชาวเยเมน ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักลอบนำยาเสพติดเข้าสู่ราชอาณาจักร ซึ่งเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในเมืองนาจราน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ นั้น

ตามการรวบรวมจากรายงานโดยสื่อของรัฐ จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 101 ราย นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งมากขึ้นเกือบเป็น 3 เท่า ของสถิติเมื่อปี 2566 และ 2565 ซึ่งซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษต่างชาติ ประมาณ 34 ราย ในสองปีดังกล่าว

นายทาฮา อัล-ฮัจจี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายขององค์กรสิทธิมนุษยชนยุโรป-ซาอุดีอาระเบีย (อีเอสโอเอชอาร์) กล่าวว่า นี่คือจำนวนการประหารชีวิตชาวต่างชาติซึ่งมากที่สุดของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากประเทศแห่งนี้ ไม่เคยประหารชีวิตชาวต่างชาติถึง 100 ราย ภายในปีเดียว

ทั้งนี้ สถิติการประหารชีวิตนักโทษของซาอุดีอาระเบียในปีนี้ สูงจนเป็นประวัติการณ์ ตามรายงานเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยถือว่ามากที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ แซงสถิติสูงสุดที่ 196 ราย ในปี 2565 และ 192 ราย เมื่อปี 2538

จนถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สถิติการประหารชีวิตนักโทษของซาอุดีอาระเบียในปีนี้อยู่ที่อย่างน้อย 274 ราย โดยชาวต่างชาติที่ถูกประหารในปีนี้ แบ่งเป็น ชาวปากีสถาน 21 ราย, เยเมน 20 ราย, ซีเรีย 14 ราย, ไนจีเรีย 10 ราย, อียิปต์ 9 ราย, จอร์แดน 8 ราย และเอธิโอเปีย 7 ราย รวมถึงชาวซูดาน, อินเดีย และอัฟกานิสถาน 3 ราย และศรีลังกา, เอริเทรีย และฟิลิปปินส์ 1 ราย

ในปี 2565 ซาอุดีอาระเบียได้ยุติการพักการประหารชีวิตผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หลังว่างเว้นมานาน 3 ปี จึงส่งผลให้การประหารชีวิตจากความผิดดังกล่าว กลับมาเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่อย่างน้อย 92 ราย โดย 69 ราย เป็นชาวต่างชาติ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES