เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 67 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายการขับเคลื่อนเด็กหลุดระบบการศึกษา หรือ “Thailand Zero Dropout” ซึ่งตามที่ สพฐ. ได้คิกออฟโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง หรือ  “OBEC Zero Dropout”  สพฐ.ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคันนั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้ติดตามเด็กที่หลุดระบบการศึกษาออกไปแล้วและตามกลับมาเรียนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ 4,000 กว่าคน จากยอดเด็กหลุดระบบการศึกษาภาคบังคับในส่วนของ สพฐ. ประมาณกว่า 300,000 คน โดยในจำนวนยอดเด็ก 4,000 คนที่ตามกลับมาได้นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กที่ได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และกลุ่มเด็กที่ต้องนำการศึกษาไปให้ โดยกลุ่มเด็กที่ต้องนำการศึกษาไปให้จะเป็นเด็กที่ป่วยติดเตียง เด็กพิการ และเด็กที่ขาดโอกาสจนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยมอบหมายให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งทุกคนจะต้องได้เรียนและไม่ตกหล่นออกนอกระบบอีกต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการมอบของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเด็กแห่งชาติ และของขวัญวันครู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินโครงการ โดยเบื้องต้นของขวัญวันเด็กแห่งชาตินั้นจะอยู่ในรูปแบบการทำให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนโครงการ “Learn to Earn” หรือการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เป็นแนวทางสร้างโอกาสในการทำงานตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายในการค้นหา พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ได้ตามความถนัด ความสนใจ ศักยภาพ รู้จักจุดแข็งและตัวตนของตนเอง โดยได้มอบหมายให้ สศศ.ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แล้วจนมีการสร้างงานสร้างรายได้เกิดขึ้นกับผู้เรียน สามารถนำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนออกจำหน่ายได้กว่า 1,000 รายการ

“ในการประชุมดังกล่าวผมได้ย้ำถึงมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพจิตของนักเรียน เนื่องจากพบว่า มีหลายกรณีเลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้นผมจึงอยากมอบเป็นนโยบายว่า ขอให้เขตพื้นที่ประสานกับกรมสุขภาพจิตในการนำนักจิตวิทยาเข้าไปในโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต พร้อมกับศึกษาพฤติกรรมนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือการแสวงหาเครื่องมือที่สามารถใช้วัดได้ว่า ข้อบ่งชี้ใดที่สุ่มเสี่ยงทำให้เด็กมีความเครียด หรือมีแนวโน้มความคิดการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว