กรณีเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษาประหารชีวิตนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม ไซยาไนด์ ในคดีวางยาพิษทำให้นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย เสียชีวิต และพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามี แอม ไซยาไนด์ เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และจำคุก น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวัณวัฒน์ หรือทนายพัช เป็นเวลา 2 ปี ในข้อหา ช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง โดยพ.ต.ท.วิฑูรย์และน.ส.ธันย์นิชา หรือทนายพัช ได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลตีหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวัณวัฒน์ หรือ ทนายพัช เดินทางมาศาลอาญา พร้อมเอกสารการยื่นขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายความให้นางสรารัตน์ หรือแอม ไซยาไนด์
โดย น.ส.ธันย์นิชา หรือทนายพัช เปิดเผยว่า วันนี้มายื่นถอนตัวจากการเป็นทนายความให้กับนางสรารัตน์ หรือแอม เนื่องจากความเห็นของทนายความกับลูกความมีความเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาตนได้ทำหน้าที่ในศาลชั้นต้นเรียบร้อยแล้ว จึงหมดหน้าที่ แต่รายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในสำนวน ตามมรรยาทของทนายความถึงแม้ทนายความจะออกจากการเป็นทนายความของลูกความแล้ว จะต้องรักษาความลับของลูกความเอาไว้ ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้
น.ส.ธันย์นิชา หรือทนายพัช กล่าวว่า ในส่วนการอุทธรณ์คดี ทางแอมต้องหาทนายความคนอื่นมาแก้ต่างในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เพื่อจะได้ลองทำงานร่วมกับทนายคนอื่นว่าจะมีการดำเนินการกับแอมอย่างไร ที่ผ่านมาตนได้ทำหน้าที่ในฐานะทนายความที่ดีและความลับของลูกความเราก็ไม่บอก ขณะนี้ตนมีหน้าที่ในการเตรียมอุทธรณ์ในส่วนของตัวเอง ต้องมาดูว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เพื่อขอความเมตตาจากศาลสูงในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
“สำหรับการถอนตัวจากการเป็นทนายความแอม ดิฉันตัดสินใจมานานแล้วและได้คัดทะเบียนราษฎรของแอมตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนศาลมีคำพิพากษา ไม่ว่าผลคำพิพากษาจะเป็นเช่นไร ตนก็ตัดสินใจขอถอนตัวอยู่ดี และขอถอนตัวจากทุกสำนวนคดี ส่วนตัวแอมไม่ได้ว่าอะไร และแอมก็ร้องขอว่าอย่าถอนเลย แต่เมื่อความเห็นไม่ตรงกันในมุมของนักกฎหมายจึงขอถอนตัวออกมา”
ทนายพัช กล่าวว่า ตนอยากให้แอมได้สัมผัสกับทนายคนอื่นบ้างว่า เขาจะดำเนินการอย่างไร มีมุมมองความเห็นในการสู้คดีอย่างไร ส่วนเรื่องที่ตนถูกแอมซัดทอดมานั้น ไม่ได้รู้สึกโกรธ แต่ใช้คำว่าติดใจมากกว่า เพราะการทำงานมันต้องตรงไปตรงมา จากนี้แอมมีสิทธิที่จะเลือกทนายความคนไหนก็ได้ และทนายความก็มีสิทธิที่จะเลือกลูกความว่าจะทำหรือไม่ก็ได้ ยืนยันว่าไม่ใช่การลอยแพ เพราะได้ตัดสินใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนมีคำพิพากษาแล้ว แม้ตนจะไม่ได้แนะนำทนายคนใหม่ให้แต่คิดว่าแอมคงหาทนายใหม่ได้ เพราะรู้จักทนายเยอะ แม้คดีจะมีความสลับซับซ้อนก็ตาม หลังจากนี้คงไม่ได้ไปเยี่ยมแอมที่เรือนจำอีก ในส่วนอีก 14 สำนวนที่เหลือก็ทราบว่าพนักงานสอบสวนจะมีการส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาพรุ่งนี้ (26 พ.ย.)
ทนายพัช กล่าวต่อว่า วันนี้ยังมีเรื่องที่จะต้องติดตามก็คือ ตนจะไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่ออัยการสำนักงานการสอบสวน ในความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่เคยได้ยื่นแจ้งให้ทำการสอบสวนไปก่อนหน้านี้ กับชุดจับกุมที่นำโดยอดีตนายตำรวจคนดัง ซึ่งตนเป็นผู้รับมอบอำนาจจากแอมในการร้องเรียน การจับกุมเรื่องปกปิดชะตากรรมเมื่อจับกุมแอมแล้วไม่ได้แจ้งให้กรมการปกครองและสำนักงานอัยการสูงสุดทราบ เท่ากับเป็นเรื่องการปกปิดชะตากรรม จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อันเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เป็นหน้าที่ที่ตนต้องนำข้อมูลไปแจ้ง ซึ่งก็ทราบล่าสุดว่าทางตำรวจยอมรับแล้วว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายซึ่งขณะนั้นมีการประกาศใช้แล้ว
ด้านนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ “ทนายเดชา” ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เดินทางมาศาลอาญา และบังเอิญเจอกับ ทนายพัช ก็ได้เดินทางมาพูดคุยจับมือให้กำลังใจพร้อมหยอกล้อ
นายเดชายังระบุด้วยว่า วันนี้ตนได้เจอพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีแอมได้แจ้งว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือแอม ไซยาไนด์ โดยจะขอให้ศาลเพิ่มโทษในส่วนของทนายพัช
ผู้สื่อข่าวถามว่าอำนาจการพิจารณาอุทธรณ์เป็นของอัยการศาลสูง อัยการเจ้าของสำนวนทราบได้อย่างไร นายเดชา กล่าวว่า มีการคุยกันแล้ว