เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายการขับเคลื่อนเด็กหลุดระบบการศึกษา หรือ “Thailand Zero Dropout” ซึ่งตามที่ สพฐ. ได้คิกออฟโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง หรือ “OBEC Zero Dropout” สพฐ.ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าจนถึงขณะนี้ได้หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้แล้วประมาณ 400,000 คน โดยในส่วนของสพฐ.อยู่ที่ 120,000 คน โดยจำนวนเด็กที่ไม่อยากกลับไปเรียน เราได้นำการศึกษาไปให้น้อง ส่วนเด็กที่ป่วยติดเตียงและต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลก็ได้มอบหมายให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เป็นผู้จัดการศึกษาและสื่อการสอนเข้าไปสอนถึงโรงพยาบาล ขณะเดียวกันได้สั่งเขตพื้นที่ปูพรมติดตามค้นหาเด็กหลุดระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป้าหมายของนโยบายนี้คือ เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งตนได้มอบหมายให้ทุกสำนักให้ไปจัดทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและจุดเน้นของ สพฐ. โดยตนฝากให้ทุกสำนักได้จัดทำคำของบประมาณแนวใหม่ที่เป็นโครงการใหม่ๆ ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของครูและนักเรียน และนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมกับเน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนการสอน ซึ่งที่สำคัญจะมีการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานนักเรียนแบบออนไลน์ เพราะในอนาคตตนอยากเห็นเด็กไปสมัครเรียนต่อหรือไปสมัครงานจะได้พิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงานดังกล่าวได้ รวมถึงในการจัดทำคำของบประมาณปี 2569 สพฐ.จะจัดทำบัตรสุขภาพนักเรียนออนไลน์ ที่รวบรวมข้อมูลสุขภาพเด็กทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง และโรคประจำตัวนักเรียน เพื่อให้ระบบการช่วยเหลือดูแลนักเรียนเข้าถึงสุขภาพเด็กอย่างตรงจุด