ภาวะ “ผิวแห้ง” เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความชุ่มชื้นในผิวจะค่อยๆ ลดลง รวมถึงความสามารถในการกักเก็บน้ำใต้ผิวจะน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจาก ฮอร์โมน ต่อมเหงื่อ และต่อมไขมันทำงานน้อยลง กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเก่าใช้เวลานานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น ตกกระ เป็นขุย และเกิดอาการคันได้ง่าย
การดูแลผิวหนังสำหรับผู้สูงอายุ มีมากมายหลายวิธี
วิธีดูแลด้วยอาหาร การรับประทานอาหารที่มีวิตามินแร่ธาตุบางชนิดสูง เพื่อเสริมความแข็งแรงของผิวหนัง
@ วิตามินเอ ประกอบด้วย สารเรตินอยด์ และแคโรทีนอยด์ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวและลดการเกิดริ้วรอย พบมากในแครอท ฟักทอง บัตเตอร์นัท มันหวาน ตับไก่
@ วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวและกำจัดอนุมูลอิสระที่ทำร้ายผิว พบมากในพริกหวานแดง กีวี และฝรั่ง
@ วิตามินดี ช่วยปกป้องระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในปลาแซลมอน ปลานิล ปลาซาบะ
@ วิตามินอี ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย และทำให้ผิวแข็งแรง ลดการถูกแสงแดดทำร้าย อีกทั้งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ทั้งนี้ควรทานคู่กับวิตามินซี พบมากในเมล็ดทานตะวัน อะโวคาโด อัลมอนด์
@ ซิงก์ (Zinc) และซีลีเนียม ช่วยให้ผิวไม่แห้ง ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันผิว และปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด โดยซิงก์พบมากในจมูกข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง ผงโกโก้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนซีลีเนียมพบในบราซิลนัท ปลาซาบะ
@ โอเมก้า3 ช่วยลดความแห้งของผิว ช่วยเสริมความแข็งแรงให้เซลล์ผิว พบในน้ำมันแฟล็กซีด น้ำมันมะกอก เมล็ดเชีย วอลนัท
@ สารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวและขมิ้น ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ ลดการเกิดอาการผิวแห้งได้ดี
@ น้ำดื่ม ดื่มนํ้าให้เพียงพอเพื่อในแต่ละวัน ช่วยลดอาการผิวแห้งได้
**อาหารที่ต้องเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเกลือ
นอกจากนี้ข้อมูลจาก สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีดูแลผิวของผู้สูงอายุ ดังนี้
@ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนเกินไป
@ ผู้ที่ผิวแห้งมาก อาจไม่จำเป็นต้องใช้สบู่
@ ไม่ควรขัดผิว
@ ลดการอาบน้ำ เหลือวันละ 1 ครั้ง
@ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ถนอมผิว
@ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
@ หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ
@ พักผ่อนให้เพียงพอ
@ ไม่เครียด
@ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
@ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
** หากมีตุ่ม ก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง หรือพบว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน มีอาการปวดหรือมีเลือดออก ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา.