บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น จึงได้เปิดเวทีร่วมหาคำตอบในงาน Greenovative Forum ครั้งที่ 14 “Crafting Tomorrow’s Future with Sustainable Energy and AI” ในวาระครบรอบ 40 ปีบางจาก ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5

สำหรับเวทียิ่งใหญ่นี้ กลุ่มบริษัทบางจาก ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของ AI ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับการจัดการด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

“ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “AI, Energy and Environment” ถึงการนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อมว่า แม้ AI จะสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่าง ๆ แต่กระบวนการพัฒนา และใช้งาน AI ต้องการพลังงานมหาศาลเช่นกัน ส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้โลกต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors หรือ SMR อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการก้าวสู่ยุค AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วยแก้ไขปัญหาซับซ้อนและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่ก็ต้องแลกกับการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น โดย AI ต้องการใช้ไฟฟ้ามากเฉลี่ย 300-1,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ Data Center (Cloud) มีการใช้ไฟฟ้า 30-100 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้น้ำเพื่อการหล่อเย็นให้อุปกรณ์ด้วย ดังนั้นยิ่งโลกมีการใช้ AI เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น กลายเป็นการใช้พลังงานเพิ่มเติม หรือ Energy Additional แทน

นอกจากนี้ “ชัยวัฒน์” ยังเสนอแนวคิดเรื่อง DNA Data Storage เป็นการปฏิวัติระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงแต่มีความกะทัดรัดและทนทานสูง แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิมอีกด้วย

ส่วนการใช้ AI ของกลุ่มบริษัทบางจาก “ชัยวัฒน์” เล่าว่า ขณะนี้เริ่มทดลองนำ AI มาใช้แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดการทำงานให้มากขึ้น ทำให้การทำงานได้ง่ายขึ้น โดย AI ได้สร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และร่นระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ช่วยวางแผนเข้าสู่เน็ต ซีโร่ได้ง่ายขึ้น แต่กระบวนการพัฒนา และใช้งาน AI ยังต้องการพลังงานมหาศาลเช่นกัน ส่งผลต่อการใช้น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้นรวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

“จุดไหนที่มีดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดมากๆ และเปิดกว้างกลุ่มบริษัทบางจาก ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งตอนนี้ได้ศึกษาอยู่ ความเป็นไปได้ทั้งร่วมทุนกับพันธมิตรและเข้ามาลงทุนเอง จึงต้องดูปริมาณความต้องการใช้งานว่า อยู่ระดับไหน ซึ่งบางจากฯ อยู่ระหว่างศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีโอกาสลงทุนได้หลายรูปแบบทั้งการร่วมกับพันธมิตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ 1 ดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้ไฟ 5 กิกะวัตต์ เท่ากับไฟที่ใช้ในโรงกลั่นบางจาก 100 โรงกลั่น จาก 1 โรงกลั่น ใช้ไฟเพียง 50 เมกะวัตต์กลั่นน้ำมันได้วันละ 16-17 ล้านลิตร และ 1 ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พื้นที่ 2 ล้านตร.ม.ซึ่งมหึมามาก และ ณ วันนี้ไฟที่ใช้สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ของทั่วโลกประมาณ 70 เทระวัตต์ชั่วโมง หรือ 130% ของกรุงเทพฯ และถ้าทุกคนทั่วโลกใช้ 85,000 เทระวัตต์ชั่วโมง เท่ากับใช้ในกรุงเทพฯ 1,600 นั่นคือไฟที่จะถูกนำมาใช้ ที่สำคัญที่สุดคือน้ำในหลาย ๆ ที่เริ่มขาด หากนำไปใช้ทั้งหมดแล้วจะเท่ากับคน 4,000 ล้านคนที่บริโภคน้ำในแต่ละปี

“เราต้องพิจารณาว่า ในช่วง 10 ปี หลังจากนี้จะบริหารพลังงานอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบ เช่น พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เมื่อมีหมอกควันโซลาร์ทำงานได้แต่ 30-40% รวมถึงการคำนวณพลังงานลมก็เช่นกัน จึงต้องใช้ AI เข้าช่วย รวมถึงระบบการขนส่งที่ลดต้นทุน เพราะแหล่งผลิตกับแหล่งใช้จะเป็นคนละแหล่งกัน เหมือนน้ำมันที่ผลิตก็ไม่อยู่ในมหานคร แต่การใช้กลับเป็นในมหานครนิวยอร์กเยอะ จึงมี 2 ทางเลือก คือ หาแหล่งผลิตเพิ่มเติมที่รับกับระบบสายส่ง”

ขณะที่ “ชญานิศ โควาวิสารัช” Senior Consultant, Net Zero, ERM (สหราชอาณาจักร) ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานด้านการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน โดยระบุว่า AI มีศักยภาพอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นการกำกับดูแลที่เป็นระบบและการวางแผนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนจึงมีความสำคัญ เพื่อให้การพัฒนาเอไอเป็นไปอย่างยั่งยืนและเหมาะสม

ด้าน Mr. Carlos Aggio Senior Enterprise AI Value Strategy Executive จาก Accenture (สิงคโปร์) ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมAI สู่การพลิกโฉมโลกพลังงาน กับเป้าหมายการลดคาร์บอนอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ “Tomorrow’s Innovations Today” ว่า เอไอเปรียบเสมือนกับน้ำที่ยังสร้างชีวิตได้ หล่อเลี้ยงชีวิตเรา แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิฉะนั้นน้ำที่มากเกินไปก็สามารถที่จะท่วมท้นได้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสมดุลทั้งจากประโยชน์ของเอไอไปพร้อม ๆ กับการใช้พลังงาน เพื่อพลิกโฉมของโลกพลังงานใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเอไอใหม่ เทคโนโลยีเอไอแบบยั่งยืน และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมมือและลงมือปฏิบัติ.