สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ว่าสืบเนื่องจากการที่วารสารวิชาการทางการแพทย์ “นิว อิงแลนด์ เมดิคอล เจอร์นัล” เผยแพร่ผลการทดสอบล่าสุดของประสิทธิภาพ “ในโลกจริง” ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “โคโรนาแวค” ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จากจีน ครอบคลุมประชากร 10.2 ล้านคนในชิลี ว่าป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 65.9% ลดความเสี่ยงการต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 87.5% ป้องกันการเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูได้ 90.3% และลดการเสียชีวิตจากอาการที่เป็นผลจากโรคโควิด-19 ได้ 86.3% นั้น

คณะนักวิจัย "แนะนำ" การใช้งานวัคซีนของซิโนแวค เนื่องจากมีประสิทธิภาพเพียงพอต้านทานโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต และผลการวิจัยที่เผยแพร่ครั้งนี้ยังสอดคล้องกับการศึกษาทางคลินิกในระยะที่สอง ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลชิลีด้วย
ศ.จวง ฉือลี่เหอ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ให้ความเห็นกับโกลบอล ไทม์ส ว่าจริงอยู่ที่ชิลีเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักระลอกใหม่ ระหว่างกลางเดือนพ.ค. ถึงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่สาเหตุหลักเป็นผลจากนโยบาย "ไม่ล็อกดาวน์" 
ด้านนายหลิว เป่ยเฉิง โฆษกของซิโนแวค กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อกลายพันธุ์ "เดลตา" คณะนักวิจัยของซิโนแวคกำลังศึกษาอย่างละเอียด ว่าวัคซีนโคโรนาแวคจะสามารถป้องกันมนุษย์จากเชื้อดังกล่าวได้เพียงใด และยืนยันจะมีการเผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการ ภายในอีกไม่นานนี้ พร้อมทั้งปฏิเสธรายงานที่ว่า เชื้อเดลตาทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวค "ลดลงสามเท่า"
ขณะที่นายเฟิ่ง ตัวเจี้ย ประธานสมาคมอุตสาหกรรมวัคซีนจีน กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนทั้งหมดที่มีการใช้งานในจีน พัฒนาจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่แพร่กระจายบนโลกตลอดปีที่แล้ว หากวัคซีนของซิโนแวคไม่สามารถป้องกันเชื้อเดลตาได้ วัคซีนตัวอื่นในจีนก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
ส่วนแหล่งข่าวที่เป็นนักภูมิคุ้มกันวิทยารายหนึ่ง เสนอความเห็นกับโกลบอล ไทม์ส ว่าวัคซีนเชื้อตายประกอบด้วยแอนติเจนทั้งหมดของเชื้อไวรัส จึงสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ด้วย แต่แน่นอนว่ายังคงต้องมีการศึกษาในระยะยาว
ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นพ.จง หนานชาน นักระบาดวิทยาหมายเลขหนึ่งของจีน โดยเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านโรคโควิด-19 ให้กับรัฐบาลปักกิ่ง ยืนยันว่า วัคซีนที่พัฒนาและผลิตในประเทศสามารถต้านทานเชื้อเดลตาได้ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES