“ยาแก้ปวด” เป็นกลุ่มยาที่มีสรรพคุณลดอาการเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดตัว ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน  หรือแก้ปวดลดอักเสบ ซึ่งยากลุ่มนี้มีบางประเภทที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน บางประเภทเป็นยาอันตราย และบางประเภทอยู่ในกลุ่มยาเสพติด หากถูกนำไปใช้ผิดประเภท จะส่งผลเสียต่อร่างกาย

“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” มีคำแนะนำรอบด้านเรื่องเกี่ยวกับการรับประทานยาแก้ปวด ว่าจำเป็นที่เราต้องเลือกใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกประเภท เพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิผลมากที่สุด

ชนิดของยาแก้ปวด

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamal) และยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการแก้ปวด ลดไข้ และลดบวมในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยยาพาราเซตามอลและยาแอสไพรินถือเป็นยาแก้ปวดที่ได้รับความนิยม เพราะหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป และราคาไม่แพง

2. ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ออกฤทธิ์แรงกว่ายาพาราเซตามอล จึงเหมาะกับการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง และช่วยลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ลดรอยแผลปวดบวม ฟกช้ำ ลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงช่วยลดไข้และปวดประจำเดือน โดยยา NSAIDs อาทิ ยาไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน ไพรอกซิแคม ไดโคลฟีแนค เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

3. ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เป็นยาแก้ปวดชนิดรุนแรง ทำให้มียาบางชนิดในกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติด และต้องใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ได้แก่ ยา Codeine Fentanyl Morphine Pethidine Oxycodone ยาแก้ปวดในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดจากระบบประสาทและปฏิกิริยาของสมองต่อความเจ็บปวด ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรง ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาทิ การบรรเทาอาการปวดหลังการผ่าตัดความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง อาการท้องเสียหรือไออย่างรุนแรง

วิธีใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง

@ ควรกินยาแก้ปวดตามข้อบ่งชี้บนเอกสารกำกับยา หรือกินยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

@ ไม่ควรกินยาแก้ปวดเกินกว่าที่กำหนด อาทิ ผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของตับปกติ ไม่ควรกินยาพาราเซตามอล เกินวันละ 8 เม็ด (ส่วนประกอบตัวยา 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียดก่อนใช้ยาแก้ปวดทุกชนิด

@ ควรเว้นระยะห่างของมื้อยาอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับหรือไตได้

@ ห้ามกินยาร่วมกับการสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น และเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะตับล้มเหลว

@ ยาแก้ปวดใช้สำหรับรักษาหรือบรรเทาอาการปวด ไม่ได้ใช้สำหรับป้องกัน ดังนั้นห้ามกินยาแก้ปวดกันเอาไว้ก่อนมีอาการ เพราะเป็นการใช้ยาเกินจำเป็น และอาจทำให้ใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ

@ ในกรณีที่ลืมกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลสามารถกินยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ และเว้นช่วงระหว่างมื้อยาประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงกินยาเม็ดถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

อันตรายจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินจำเป็น

@ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีเหงื่อออกเยอะมากกว่าปกติ

@ หลังกินยาแก้ปวดในกลุ่มยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน เกินขนาดภายในช่วง 24-48 ชั่วโมง มักพบเอนไซม์ทรานซามิเนส (Transaminase) เพิ่มขึ้นในเลือด ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่บ่งชี้ว่าเกิดการอักเสบบาดเจ็บที่บริเวณตับ อาจทำให้ตับเสื่อมสภาพในระยะยาวหรือมีภาวะตับวายได้

@ ไตเสื่อมสภาพและทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการบวม ปัสสาวะออกน้อย

@ อาจทำให้เกิดแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง แสบท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

@ อาการในระยะที่มีการใช้ยาเกินขนาดในปริมาณมาก หรือใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดมาเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ตับอักเสบ มีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวด

1. ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกร เพื่อเลือกใช้ชนิดยาแก้ปวดและปริมาณที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต

2. ระมัดระวังไม่ใช้ยาแก้ปวดกับคนที่แพ้ยาชนิดนั้นๆ หลังจากใช้ยาแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นคันหรือผื่นแดงขึ้นตามตัว รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีอาการบวมตามส่วนต่างๆ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ปัสสาวะออกน้อย ให้หยุดใช้ยาและควรปรึกษาแพทย์ทันที

3. ระมัดระวังการใช้ตัวยาแก้ปวดซ้ำซ้อนโดยไม่ตั้งใจ เพราะอาจทำให้ได้รับปริมาณตัวยาเกินกำหนด เช่น การกินยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับยาอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของยาแก้ปวดหรือยาบรรเทาอาการของโรคไข้หวัด

4. ยาแก้ปวดบางชนิดมีฤทธิ์กัดกร่อนกระเพาะอาหาร หรือทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร จึงไม่ควรกินยาขณะท้องว่าง เช่น ยาแอสไพริน ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน ไพร็อกซีแคม ส่วนผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารควรใช้ยากลุ่มนี้อย่างระมัดระวัง

5. ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์ด้วยตัวเอง เนื่องจากมียาบางชนิดที่จัดเป็นสารเสพติดให้โทษแก่ร่างกาย เช่น ยามอร์ฟีน ยาทรามาดอล (Tramadol) อาจทำให้เกิดการใช้ยาเกินขนาด และมีภาวะเสพติดยาได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง อาจทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

สรุปแล้ว ผู้ป่วยควรศึกษาวิธีรับประทานยาแก้ปวดอย่างเหมาะสม ปฏิบัติตามข้อบ่งชี้บนฉลากยาและคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ที่สำคัญ ไม่กินยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็นหรือกินยาแก้ปวดกันเอาไว้ล่วงหน้า เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาด จนส่งผลอันตรายต่อร่างกายตามมาซึ่งบางอาการอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที.