สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็นอย่างไรเวลานี้ กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) ให้ข้อมูลตัวเลขยานยนต์ไฟฟ้าว่า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถยนต์สี่ล้อจำนวน 7 ที่นั่ง รถจักรยานยนต์ (จยย.) รถบัสโดยสาร จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 9,060 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ประมาณ 3,446 คัน รถ จยย.5,229 คัน ที่เหลือเป็นรถตุ๊กๆ รถบัส ยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตมาตั้งแต่ปี 2562 ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทจดทะเบียนประมาณ 1,572 คัน ในปี 2563 มีรถยนต์จดทะเบียนจำนวน 2,299 คัน สำหรับในปีนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนโดยผ่านมา 8 เดือนจดทะเบียนจำนวน 3,506 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งจำนวน 1,242 คัน และรถจยย. 2,235 คัน ที่เหลือเป็นรถประเภทอื่น

สำหรับทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะไปทางใดนั้น ได้ถูกกำหนดโดย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน

เป้าหมายของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมองว่าในปี 2568 จะเห็นการจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้า ในตระกูลรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งกับรถปิกอัพทรัค ประมาณ 30% หรือจำนวน 2.5 แสนคันต่อปี และ ปี 2573 จะเพิ่มขึ้น 4.4 แสนคัน” นายกฤษฎากล่าว

ดังนั้นคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติต้องหาเป้าหมายเพื่อมาสนับสนุน โดยมีคณะอนุกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ 1.คือคณะอนุกรรมการฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีแบตเตอรี่เข้าไปมีส่วนร่วม 2.คณะอนุกรรมการที่กำหนดโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่ ให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ 3.คณะอนุกรรมการประเมินผลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงและผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจก 4.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยกรมสรรพสามิตจะเข้ามาดูในเรื่องของภาษีและที่ไม่เกี่ยวกับภาษี

อย่างไรก็ตามที่ก่อนหน้า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้เสนอเเนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประกอบไปด้วย 8 ข้อหลักที่มุ่งหวังให้ภาครัฐนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ อาทิ 1.การจัดทำเเผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเเบบบูรณาการ (EV Roadmap) อย่างเป็นรูปธรรม สถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 2.การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งภาครัฐควรออกมาตรการดังต่อไปนี้ 2.1 ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม เช่น การลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 2.2 เพิ่มแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกมาตรการเพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะเเละเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ 2.3 หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้นำด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก่อนด้วยการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเเบบเเบตเตอรี่ตามมติ ครม. 2.4 ขยายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถโดยสารสาธารณะได้ เเก่ ขสมก. รถตุ๊กๆ รถเเท็กซี่ ควรเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด 2.5 สนับสนุนให้มีการเเยกประเภทป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 3.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าทั้งจัดให้มีการอบรมเเละการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษา เป็นต้น

นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของสมาคมจะถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการ ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เทียบกับในอาเซียนประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งสิงคโปร์ประกาศว่าในปี 2583 จะเลิกใช้รถน้ำมัน ขณะที่ประเทศไทยประกาศออกมาแล้วว่าในปี 2578 จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 100% โดยมีความคืบหน้าไปในหลาย ๆ เรื่องใน 8 ข้อเสนอของสมาคม ได้แก่เรื่องจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊ก ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ไม่มีการออกทะเบียนใหม่ให้กับรถสามล้อไฟฟ้า ส่วนเรื่องใหญ่ที่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมยังไม่ได้ข้อสรุปในคณะอนุกรรมการฯ มีหลากหลายข้อเสนอ เรื่องสร้างแรงจูงใจเช่นมีที่จอดรถ หรือต้องเก็บภาษีรถน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อไปสนับสนุนให้คนใช้รถไฟฟ้า รวมทั้งลดค่าทางด่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น แต่แนวทางให้รถยนต์ที่ใช้ในหน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หน่วยราชการส่งหนังสือเวียนขอความร่วมมือแล้ว สำหรับรถยนต์เช่าที่หมดสัญญา

ข้อกังวลของยานยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องของแบตเตอรี่ สถานีชาร์จต่าง ๆ เมื่อย้อนไปในปี 2553 ราคาแบตเตอรี่ต่อกิโลวัตต์อยู่ที่ 1,191 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อกิโลวัตต์ฮาวท์ ขณะที่ปี 2563 ลดลงมา 137 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมาประมาณ 10 เท่าตัว และน่าจะเห็นลิเทียมแบตเตอรี่ลดลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ฮาวท์ นั่นหมายความว่าต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะถูกลง

ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนลดลง ด้วยระยะที่การขับรถด้วยไฟฟ้าล้วนจะเพิ่มขึ้น เดิมในปี 2553 อยู่ที่ 150 กิโลเมตร ต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 7-8 ชม.ทุกวันนี้เทคโนโลยีปรับไปไกลเกิน 500 กิโลเมตรแล้ว ด้วยระบบหัวชาร์จแบบไฟบ้าน

ขณะเดียวกันสถานีชาร์จแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) ได้พัฒนาธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station จำนวน 31 แห่ง แบ่งเป็น Normal Charger จำนวน 25 แห่ง และ Quick Charger จำนวน 6 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งครอบคลุมเส้นทางหลักของประเทศในปี 2564 และปี 2565 เพิ่มเป็น 300 แห่ง โดยสามารถตรวจสอบสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่น EV Station

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Charging Station) ตลอดปี 2564-2565 ภายใต้แบรนด์ EleX by EGAT เริ่มเปิดให้บริการสถานี EV Charging Station ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สำหรับแผนในระยะต่อไป กฟผ. จะขยายจำนวน EV Charging Station เพิ่มขึ้น ทั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือเขื่อนของ กฟผ. และพื้นที่พันธมิตรต่าง ๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ อีกกว่า 40 สถานี ในช่วงปี 2564–2565

ทั้งนี้ ตัวเลขที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าไว้ปี 2568 สถานี Quick Charger มีตั้งแต่ 2,000-4,400 สถานี ก่อนที่จะไป 10,000 สถานีในปี 2573 ถ้าบวกกับจำนวนสถานี Normal Charger น่าจะมีจำนวนพอสมควร ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะชาร์จไฟฟ้าที่บ้านเป็นส่วนใหญ่

กฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมซ์เตอร์เทคนิค จำกัด หรือ อาวดี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมรถไฟฟ้าตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน จากเดิมที่เรามีเครื่องยนต์สันดาป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการสร้างเทคโนโลยีที่เรียกว่า ปลั๊กอิน มีเครื่องยนต์ผสมกับไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทาง 30 กิโล 40 กิโลบ้าง จนพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนในยุโรปเพราะว่าประเทศไทยถูกกำหนดให้เป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย เป็นโครงสร้างพื้นฐานในอดีตของยานยนต์ ในอนาคตรถยนต์จะไม่มีลูกสูบ ไม่มีหัวเทียน ทั้งนี้ อาวดี้ ได้เตรียมบุคลากรรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2018 เวลาจะเข้าศูนย์ต้องมีการกั้นเป็นพื้นที่พิเศษ สำหรับบุคลากรได้รับการอบรมมาพิเศษเท่านั้นถึงจะได้รับการซ่อมเพราะคำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งอาวดี้ ขายรถยนต์ไฟฟ้าไป 100 กว่าคัน ตั้งแต่ปี 2562 และอยู่ระหว่างส่งมอบจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาวดี้เป็นตลาดรถหรูมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 4.9-9 ล้านบาท เปิดขายรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว 5 รุ่น โดยพัฒนาสถานีชาร์จแบบ Quick Charger ในเวลา 48 นาทีที่ศูนย์ วิ่งได้ประมาณ 500 กม. และชาร์จไฟบ้านประมาณ 7-8 ชม.

“ทั้งนี้มองว่าผู้ประกอบการจากจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่อง จากเอารถจากจีนมาแล้ว มีโรงงานผลิตในประเทศตัวแปรส่งผลให้ตลาดรถไฟฟ้าเป็นตลาดใหญ่ที่มีราคาประมาณ 1 ล้านบาทหรือไม่ถึง 1 ล้านบาท เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสถานีชาร์จดังนั้นภายใน 5 ปีสิ่งที่จะต้องจับตามอง คือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เยอะพอสมควร แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีรถไฟฟ้ามาแทนรถน้ำมัน 100% เพราะเราต้องใช้รถกระบะรถที่ใช้เพื่อการขนส่งสินค้า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมซ์เตอร์เทคนิค จำกัด หรือ อาวดี้ ประเทศไทย กล่าว

นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจะเห็นแบรนด์ที่หลากหลายมากเพราะโครงสร้างภาษี เอฟทีเอ ระหว่าง ASEAN China ประเทศไทยได้สิทธิพิเศษในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอัตราภาษี 0% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไม่เกิน 7 ที่นั่ง ซึ่งปกติแล้วการนำเข้ารถยนต์จะคิดภาษีที่ 80%

ส่วนข้อเสนอที่ว่าประเทศไทยควรผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแบรนด์ของประเทศ ในฐานะที่เป็นดีทรอยต์แห่งการผลิตรถยนต์เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ความเห็นของนายกสมาคมฯระบุว่าการสร้างแบรนด์นั้นเกิดยาก มีตัวอย่างในมาเลเซียที่ผลิตแล้วขายในประเทศแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการส่งออก ควรตั้งเป้าว่า ให้อยู่ 1 ใน 10 ของประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดีกว่า โดยจะเน้น ดึงการลงทุนเข้ามา แต่ถ้าเป็นจักรยานยนต์คิดว่ามีความเป็นไปได้ มีหลายบริษัทที่ทำได้ประสบความสำเร็จในบ้านเรา ที่เป็น Start Up อย่างเช่นบริษัทอีธาน การออกแบบได้รางวัลจากเยอรมนี น่าจะมีการต่อยอดได้ดีและเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เราจะได้เห็น

ปลายทางของรถยนต์ในการใช้น้ำมันท้ายที่สุดจะต้องถูกกำจัดออกไปตามกาลเวลา เป็นโจทย์อันท้าทายต้องหาทางออกที่สวยงาม ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเดินไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (ZEV : Zero Emission Vehicle) อย่างน้อย 30% ของการผลิตในปี 2573 เพื่อจะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

เนื้อหา : พรประไพ เสือเขียว