สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาทางวิชาการ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม” เผยแพร่สู่สาธารณชน ระดับประถมศึกษา สร้างต้นแบบ ภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุมพระพิรุณระลึกโปรดเกล้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ดร.ภูธร จันทะหงส์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ ว่า สพฐ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อให้เด็กมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีวิธีการที่มีรูปแบบ แบบแผน มีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ได้คิดเอง และลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเกิดผลงานนวัตกรรม สำหรับกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการดังกล่าว จากการสอบถามนักเรียนที่นำผลงานมาจัดแสดง รับรู้ได้ว่าเด็กมีความสุขตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของ รมว.ศึกษาธิการ โดยนักเรียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเรียนรู้แบบนี้เพราะเป็นการเรียนที่มีความสุข ทั้งยังมีการแสดงผลงานที่มีคุณภาพเชิงประจักษ์ของเด็กใน 7 จังหวัด มีผลงานนวัตกรรมกว่า 1,200 ชิ้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กได้แสดงออกถึงศักยภาพ กล้าทำ กล้าคิด มีวิธีการคิดที่เป็นระบบ มีการทำงานอย่างมีแบบแผนที่เป็นขั้นเป็นตอน ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ที่ช่วยผลักดันการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ขอฝากครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ให้ขยายผลนวัตกรรมของนักเรียนออกไปให้มาก ให้ครอบคลุมจากหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรมเป็น หนึ่งห้องเรียนหนึ่งนวัตกรรม หรือให้มีเป็นนวัตกรรมเป็นรายบุคคล และขยายไปทั้งประเทศต่อไป แต่สิ่งสำคัญนวัตกรรมที่ได้จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติด้วย

รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้นักเรียนมีโอกาสคิดเชิงระบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น โดยโครงการความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จะเน้นเรื่องของการสร้างครูให้เป็นนวัตกรก่อนแล้วถ่ายทอดสู่นักเรียน ซึ่งสิ่งที่ได้จากการดำเนินการ คือ การได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้เห็นภาพความสำเร็จในอนาคตว่าการจัดการเรียนรู้ด้วย Active Learning จะเริ่มขึ้นเป็นจุดแล้วแตกกระจายไปทั่วประเทศ เด็กจะได้ระบบการเรียนรู้ ฝึกเรื่องการคิด และกระบวนการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นระหว่างการทำงานของนักเรียนที่ถ่ายทอดออกมา เมื่อระบบการจัดการเรียนการสอนเป็น Active Learning ทั้งหมด คาดว่าคุณภาพของเด็กนักเรียนไทยจะมีมากขึ้น ความคาดหวังของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในความร่วมมือครั้งนี้ คือ คิดว่ารูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั่วประเทศในปี 2568 และ 2569 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ต่างก็ให้เด็กหันกลับมาเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดทั้งนั้น แม้แต่โทรศัพท์มือถือก็ไม่ให้นำเข้าห้องเรียน เพื่อเน้นกระบวนการคิดสร้างแบบมีแบบแผน แล้วให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของกระบวนการคิด ไม่ได้ให้เทคโนโลยีคิด แต่ให้ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดความคิดที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ตัวนักเรียน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่อนุบาลในการพัฒนาเส้นใยประสาทของมนุษย์ จากนั้นจึงจะมีการต่อยอดขึ้นไปโดยใช้แบบแผนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ ให้เข้าถึงกระบวนคิดขั้นสูง เพราะปัจจุบันกระบวนการคิดของเด็กอยู่ในขั้นตอนกระบวนการคิดขั้นพื้นฐานเท่านั้น ถ้าหากการคิดถึงกระบวนการคิดขั้นสูง เทคโนโลยีก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมในการต่อยอดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น