ทนายความตัวแทนของสหรัฐ ส่งคำร้องเมื่อวานนี้ (27 ต.ค.) ให้อังกฤษส่งตัว จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ (Wikileaks) เว็บไซต์ข่าวเอกชนที่แฉข้อมูลลับทางการทหารและข้อมูลเรื่องการทุจริตในหลายประเทศ ไปยังสหรัฐเพื่อรับการดำเนินคดี หลังจากที่ศาลชั้นต้นของอังกฤษไม่อนุญาต

จูเลียน อัสซานจ์ ในวัย 50 ปี เป็นที่ต้องการตัวในสหรัฐอเมริกาในข้อหาทางอาญา 18 คดี ซึ่งรวมถึงการละเมิดกฎหมายการสอดแนม หลังจากที่ทีมงานของเขาเผยแพร่เอกสารลับและบันทึกลับของบุคลากรทางการทูตเป็นจำนวนมากในปี 2553

ทนายความเจมส์ ลูอิส ซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐบาลสหรัฐ แถลงต่อศาลอุทธรณ์ในลอนดอน ว่าผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของอังกฤษพลาดที่ตัดสินว่า ไม่สามารถส่งตัวอัสซานจ์ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่เขาจะฆ่าตัวตายในเรือนจำของสหรัฐ

ลูอิส โต้แย้งว่า ไม่ควรนำความวิตกเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์มาเป็นข้ออ้างในการละเว้นการส่งตัว ในเอกสารสรุปข้อโต้แย้งของลูอิส ซึ่งนำเสนอต่อศาลและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า สหรัฐได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลอังกฤษ และให้การรับรองด้วยว่า สหรัฐจะยินยอมให้อัสซานจ์ย้ายไปรับโทษจำคุกที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา

อัสซานจ์ซึ่งปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ถูกคุมขังที่เรือนจำบัลมาร์ชในลอนดอน แต่เดิมเขาแจ้งต่อศาลว่าป่วยจนให้การไม่ไหว แต่ก็กลับมาให้การผ่านระบบวิดีโอคอลได้ในภายหลัง ทนายความของเขาระบุในเอกสารเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนว่าขอปฏิเสธคำยืนยันการเตรียมพร้อมของทางสหรัฐ โดยกล่าวว่าเขาอาจถูกคุมตัวภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด กดดัน ซึ่งอาจทำให้เขามีแนวโน้มที่คิดฆ่าตัวตาย อีกทั้งทางออสเตรเลียก็ยังไม่ยืนยันว่าจะยินยอมให้อัสซานจ์ย้ายมารับโทษจำคุกที่นั่น จึงเป็นไปได้สูงว่าเขาจะต้องรอคอยเป็นเวลานาน กว่าจะได้ย้ายสถานที่รับโทษ

ภาพสเกตช์ในศาล แสดงให้เห็นสภาพของอัสซานจ์ที่ปรากฏตัวผ่านระบบวิดีโอคอลจากเรือนจำบัลมาร์ช

การพิจารณาคดีกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาสองวัน และผู้พิพากษาจะแจ้งคำตัดสินในวันที่ 3

เว็บไซต์องค์กรข่าวเอกชนวิกิลีกส์มีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อเริ่มเผยแพร่บันทึกทางทหารที่เป็นความลับของสหรัฐและบันทึกทางการทูตซึ่งสหรัฐระบุว่าทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการต้องตกอยู่ในอันตราย ทำให้อัสซานจ์กลายเป็นบุคคลที่สหรัฐต้องการตัว

ไม่นานหลังจากนั้น สวีเดนได้ขอให้ทางการอังกฤษส่งตัวอัสซานจ์มายังสวีเดนเพื่อดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมทางเพศ ในปี 2555 แต่เขากลับลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอน และอยู่ที่นั่นถึง 7 ปี ก่อนจะถูกคุมตัวออกมาในเดือนเมษายน 2562

หลังจากนั้นอัสซานจ์ถูกจำคุกในข้อหาละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวของอังกฤษ ต่อมา สวีเดนยกเลิกการตั้งข้อหาอัสซานจ์ แต่สหรัฐยังคงต้องการตัวเขาและยื่นคำร้องขอให้มีการส่งตัวอัสซานจ์ไปดำเนินคดีที่สหรัฐ

เมื่อตอนต้นปี ศาลอังกฤษปฏิเสธข้อแก้ต่างของอัสซานจ์ว่า คดีนี้เป็นคดีการเมืองและเป็นการทำร้ายเสรีภาพในการพูด แต่ก็ตัดสินว่าไม่ควรส่งตัวเขาไปสหรัฐในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเพราะปัญหาสุขภาพจิต

จอห์น ชิปตัน พ่อของอัสซานจ์เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงภายนอกอาคารศาลยุติธรรมในลอนดอน

ทางด้านบรรดาผู้สนับสนุนอัสซานจ์ได้มารวมตัวกันนอกอาคารศาลในกรุงลอนดอนตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 27 ต.ค. และร้องเพลง “Free Julian Assange” (ปล่อยตัวจูเลียน อัสซานจ์) ก่อนที่พ่อของเขาและสเตลลา มอริส คู่ชีวิตของอัสซานจ์จะมาถึง

ผู้สนับสนุนมองว่าอัสซานจ์เป็นวีรบุรุษที่ตกเป็นเหยื่อเพราะเขาได้เปิดเผยการกระทำผิดกฎหมายของสหรัฐในอัฟกานิสถานและอิรัก และกล่าวว่าการดำเนินคดีของเขาเป็นสาเหตุการโจมตีทางการเมืองต่อสื่อมวลชนและเสรีภาพในการพูด ขณะที่อัยการสหรัฐและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของชาติตะวันตกถือว่าเขาเป็นศัตรูตัวฉกาจ เพราะการกระทำของเขาคุกคามชีวิตเจ้าหน้าที่ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารที่รั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมาก

เครดิตภาพ : Reuters